ค้นความคิดว่าที่ ดร. เศรษฐศาสตร์

กลับหลังหัน
ปกป้อง จันวิทย์


ค้นความคิดว่าที่ ดร. เศรษฐศาสตร์
เมื่อปี 1985 David Colander และ Arjo Klamer ออกแบบสอบถาม สำรวจความคิดเห็น และสัมภาษณ์ นักศึกษาปริญญาเอก ที่เรียนอยู่ในคณะเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของสหรัฐอเมริกา โดยมีประเด็นหลักเกี่ยวกับมุมมองต่อตัววิชาเศรษฐศาสตร์ และการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์

งานวิจัยชิ้นดังกล่าว ต่อมาตีพิมพ์ใน Journal of Economic Perspectives ในชื่อ The Making of an Economist (1987) งานชิ้นดังกล่าวมีความน่าสนใจ เพราะสะท้อนพื้นฐานความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำรุ่นใหม่ต่อตัววิชาการเศรษฐศาสตร์ และการศึกษาเศรษฐศาสตร์ในระดับบัณฑิตศึกษา นักเศรษฐศาสตร์หนุ่มสาว ผู้ตอบแบบสอบถามนี้ ถือเป็นกำลังสำคัญแห่งอนาคตในการ ‘ผลิตซ้ำ’ องค์ความรู้เศรษฐศาสตร์ไปสู่นักเศรษฐศาสตร์รุ่นหลัง ไม่ว่าในฐานะว่าที่อาจารย์และว่าที่นักวิจัยในสถาบันศึกษาวิจัยเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อพัฒนาการของวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ ทั้งในแง่ทิศทางและเนื้อหา และต่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ในทศวรรษต่อๆ ไป

ในอีกด้านหนึ่ง งานวิจัยชิ้นนี้เป็นภาพสะท้อน ‘เนื้อหาสาระ’ ของกระบวนการ ‘ฝึกสร้างนักเศรษฐศาสตร์’ ที่ดำรงอยู่ภายในโรงงานผลิตนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำแห่งสหรัฐอเมริกา ว่ามุมมองต่อโลกแบบใด อุดมการณ์ใด หรือวิธีทำงานแบบใด ที่ครอบงำวงวิชาการเศรษฐศาสตร์อยู่ในขณะหนึ่ง และส่งผลสำคัญในการ ‘ฝึกสร้าง’ และ ‘หล่อหลอม’ นักเศรษฐศาสตร์รุ่นต่อมา

เวลาผ่านไปเกือบสองทศวรรษ Colander ได้ทำการสำรวจประเด็นเดิมอีกครั้ง โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเช่นเดิม ในกลุ่มตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับกลุ่มตัวอย่างเดิม เพื่อตรวจสอบว่า พื้นฐานความคิดของนักศึกษาปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ต่อวิชาเศรษฐศาสตร์ และการศึกษาเศรษฐศาสตร์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หรืออีกนัยหนึ่ง กระบวนการ ‘ฝึกสร้าง’ นักเศรษฐศาสตร์มีเนื้อหาสาระเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร ในรอบเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา

การสำรวจความเห็นเริ่มต้นที่ Princeton University (คิดเป็น 15% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด) ในปี 2001-2002 และมหาวิทยาลัยอื่นอีก 6 แห่ง ซึ่งได้แก่ University of Chicago (26%), Columbia University (12%), Harvard University (18%), MIT (10%), Stanford University (12%) และ Yale University (7%) ในปี 2002-2003 มีนักศึกษาตอบแบบสอบถามรวมทั้งสิ้น 231 คน จากประชากรทั้งหมด 800-900 คน

ผลการศึกษาดังกล่าว ตีพิมพ์ใน Journal of Economic Perspectives ในปี 2005 ภายใต้ชื่อ The Making of an Economist Redux ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้ (บทความนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อวิจารณ์ระเบียบวิธีวิจัยของ Colander แต่เป็นเพียงการเก็บความมาเล่าสู่กันฟัง)

1. นักศึกษาปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์เป็นใคร?

หากเปรียบเทียบ ข้อมูลส่วนตัวของนักศึกษาปริญญาเอก จากงานวิจัยปี 1987 และ 2005 พบว่า พื้นฐานของนักศึกษาไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก

อายุเฉลี่ยของนักศึกษายังคงอยู่ที่ 26 ปี ส่วนใหญ่ยังเป็นเพศชาย แต่สัดส่วนของนักศึกษาหญิงเพิ่มขึ้นจาก 19% เป็น 29% ส่วนใหญ่ 81% จบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์มาก่อน อีก 21% จบคณิตศาสตร์ และ 22% จบสาขาอื่น (ที่รวมกันเกิน 100% เพราะบางคนเรียน double major) นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนต่อทันทีหลังจากจบปริญญาตรี แต่ทำงานก่อน โดยมากเป็นผู้ช่วยวิจัย

นอกจากนั้น 62% ของนักศึกษาทั้งหมดที่ตอบแบบสอบถามเป็นนักศึกษาต่างชาติ (ซึ่งสัดส่วนของนักศึกษาต่างชาติที่ตอบแบบสอบถามแตกต่างกันตามมหาวิทยาลัย) นักศึกษาที่ตอบแบบสอบถามกำลังเรียนปีแรก 22% ปีสอง 25% ปีสาม 19% ปีสี่ 14% และปีห้าหรือสูงกว่า 20% มีเพียง 7% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ที่จะไม่ทำงานในโลกวิชาการหลังจบการศึกษา และ 7% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด บอกว่า หากย้อนเวลากลับไปได้ จะไม่เลือกเรียนเศรษฐศาสตร์

2. คุณสมบัติใดเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จของนักเศรษฐศาสตร์ ?

นักศึกษาปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ให้คุณค่ากับความเก่งกาจในการแก้ปัญหามากที่สุด แม้สัดส่วนของคนที่เชื่อว่าคุณสมบัติดังกล่าวมีความสำคัญ ‘อย่างยิ่ง’ จะลดลงจาก 65% เหลือ 51% ก็ตาม ข้อค้นพบอีกประการหนึ่งที่น่าสนใจคือ ความสามารถทางคณิตศาสตร์ ลดความสำคัญลง กลุ่มตัวอย่างที่เชื่อว่าความยอดเยี่ยมทางคณิตศาสตร์เป็นคุณสมบัติที่มีความสำคัญ ‘อย่างยิ่ง’ ลดลงจาก 57% เหลือ 30% สวนทางกับคุณสมบัติความสามารถในการทำงานวิจัยเชิงประจักษ์ (Empirical Research) เพิ่มสูงขึ้นจาก 16% เป็น 30%

บางคนอาจตีความได้ว่า แม้คณิตศาสตร์จะยังสำคัญในการศึกษาเศรษฐศาสตร์ชั้นสูง แต่ถูกมองเป็น ‘เครื่องมือ’ ในการทำงานวิจัยเชิงประจักษ์ ซึ่งมุ่งหาคำตอบเชิงนโยบาย มากกว่าทางทฤษฎี ระดับความเป็นคณิตศาสตร์เชิงประยุกต์เพิ่มมากขึ้น

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ นักศึกษาปริญญาเอกกลุ่มตัวอย่าง ยังคงเชื่อว่า ความรู้รอบรู้กว้างทางเศรษฐศาสตร์ (เดิม 43% ใหม่ 35%) และความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจ (เดิม 68% ใหม่ 51%) เป็นสิ่งที่ ‘ไม่มีความสำคัญ’ ต่อความสำเร็จ แม้สัดส่วนของกลุ่มตัวอย่างที่คิดเช่นนี้จะลดลงก็ตาม แต่ถือยังคงอยู่ในระดับสูง น่าคิดต่อว่าเหตุใดนักศึกษาในคณะเศรษฐศาสตร์ชั้นนำเกินครึ่งยังคงเชื่อมาตลอดเกือบ 20 ปีว่า ความรู้เกี่ยวกับ ‘เศรษฐกิจ’ ไม่มีความสำคัญในฐานะ ‘นักเศรษฐศาสตร์’

หรือ ‘เศรษฐศาสตร์’ จะไม่ข้องเกี่ยวกับ ‘เศรษฐกิจ’ เสียแล้ว ?

3. นักเศรษฐศาสตร์อยากเรียนอะไร?

งานวิจัยชิ้นล่าสุดชี้ว่า เศรษฐศาสตร์การพัฒนา เศรษฐศาสตร์แรงงาน และเศรษฐศาสตร์การคลัง ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนหน้า ขณะที่เศรษฐศาสตร์มหภาค เศรษฐศาสตร์การเมือง เศรษฐศาสตร์การเงินและการธนาคาร เศรษฐศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ เศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม และประวัติความคิดเศรษฐศาสตร์ ลดความสำคัญลง

หากดูรายละเอียดของความสนใจในแต่ละสาขาวิชาแยกตามชั้นปี พบว่า ไม่มีความแตกต่างทางความสนใจของนักศึกษาแต่ละชั้นปีอย่างมีนัยสำคัญ จะมีก็เพียงสาขาวิชาประวัติความคิดเศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์มหภาค และเศรษฐศาสตร์การเงินและการธนาคารเท่านั้น ที่นักศึกษาปีสูงมีความสนใจต่ำกว่านักศึกษาปีต่ำอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิชาประวัติความคิดเศรษฐศาสตร์

นอกจากนั้น จากการสัมภาษณ์พบว่า นักศึกษามีความรู้สึกด้านลบอย่างเด่นชัดกับเศรษฐศาสตร์มหภาคในทุกมหาวิทยาลัย โดยให้เหตุผลทำนองว่า ไม่มีประโยชน์ในการอธิบายโลกแห่งความจริง เต็มไปด้วยคณิตศาสตร์ที่ไม่รู้ว่าจะเรียนไปเพื่ออะไร

4. นักเศรษฐศาสตร์เชื่ออะไร ?

ตอนหน้า เราจะมาดูกันว่า ในปัจจุบัน ว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ ให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิก ซึ่งเป็นแนวคิดกระแสหลัก ณ วันนี้ เปลี่ยนแปลงจากผลสำรวจเมื่อปี 1987 อย่างไร

รวมทั้ง นักเศรษฐศาสตร์มีระดับความเชื่อใน ข้อสมมติที่ว่าพฤติกรรมของคนมีเหตุมีผลแบบเศรษฐศาสตร์ (Rational Behavior), การแข่งขันไม่สมบูรณ์ (Imperfect Competition), ทฤษฎี Rational Expectation, ประสิทธิภาพของนโยบายการคลังในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ฯลฯ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างไร และสำนัก Chicago ยังคงเป็นป้อมปราการที่แข็งแกร่งของเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกอยู่หรือไม่ ?

โปรดติดตาม

.................................................

หลบร้อนการเมือง ตอน เมื่อสามนักการเมืองไปหาเทพเจ้า

คุณทักษิน คุณอภิสิด และคุณบรรหาน ชวนกันไปเฝ้าเทพเจ้าบนสรวงสวรรค์ ผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม ด้วยหวังจะสอบถาม inside information เกี่ยวกับอนาคตของพรรคตน




บรรหาน: “โอ้ เทพเจ้า อนาคตพรรคซาดไทยของกระผมจะเป็นยังไงบ้างครับท่าน”

เทพเจ้า: “เสี่ยอ่างจะจากไป เลือกตั้งคราวหน้าจะต่ำสิบ ส.ส.เก่าโดดดูดคนแล้วคนเล่า เลิกเล่นการเมืองเถิดเติ้ง”

ได้ฟังดังนั้น คุณบรรหานก็นั่งทอดอาลัย มือกุมขมับ น้ำตาไหลปิ่มว่าจะขาดใจ .....




อภิสิด: “โอ้ เทพเจ้า แล้วอนาคตพรรคประชาธิปัด ของกระผมเล่า”

เทพเจ้า: “ยังไม่ฟื้น ไม่มีอะไรใหม่ ศรัทธายังไม่หวนคืน อีสานโบ๋ ความขัดแย้งในพรรคยังคุกรุ่นรอวันปะทุ ฝ่ายค้านตลอดกาลแน่ อีกนานมาร์คกว่าจะได้เป็นนายก”

ได้ฟังดังนั้น คุณอภิสิดก็นั่งทอดอาลัย มือกุมขมับ น้ำตาไหลปิ่มว่าจะขาดใจ .....




ทักษิน: “โอ้ เทพเจ้า โปรดบอกข้า อนาคตพรรคไทรักไท และตัวข้าพเจ้า จะเป็นเช่นไร”

ได้ฟังดังนั้น เทพเจ้าก็นั่งทอดอาลัย มือกุมขมับ น้ำตาไหลปิ่มว่าจะขาดใจ .....




ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ 2549

พิมพ์บทความ

Comments

Popular posts from this blog

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับธุรกิจ

การเดินทางของวิชาเศรษฐศาสตร์

ความสำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์ม�