ความสำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์ม�

ความสำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์ม�
ความสำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์มีอะไรบ้าง
โปรดทราบว่า วิชาเศรษฐศาสตร์ ไม่ยากอย่างที่กลัว แต่ไม่ง่ายพอที่คนเกียจคร้านจะเรียนได้สำเร็จ วิชาเศรษฐศาสตร์ เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจของมนุษย์ ที่สอนให้วิเคราะห์คิดตัดสินใจในเรื่องชีวิตส่วนตัว เรื่องธุรกิจ และ เรื่องของสังคมส่วนรวม
วิชานี้จึงเอาเรื่องของคน และ ของสังคม มาเรียนกัน มีการใช้คณิตศาสตร์บ้าง ก็ไม่มากนัก

ความสำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์คือ ทำให้มนุษย์จัดการเรื่องของตนและของสังคมได้ดีกว่าปล่อยให้นึกๆเอาเอง
จึงกลายเป็นศาสตร์ขึ้นมา
วิชาเศรษฐศาสตร์ไม่ได้สอนให้คนเห็นแก่ตัว แต่ให้เห็นแก่ส่วนรวม ประชาชนใช้วิชาเศรษฐศาสตร์เพื่อตัดสินใจชีวิต นักธุรกิจใช้ตัดสินวิเคราะห์ธุรกิจ ผู้บริหารราชการและรัฐบาล ใช้วิชานี้วิเคราะห์ผลได้ผลเสียและหนทางที่ดีที่สุดในการบริหารประเทศ

อาชีพนักเศรษฐศาสตร์

วิชาเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยการตัดสินใจหาหนทางที่เหมาะสมที่สุด ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจส่วนตัว ของหน่วยงาน และ ของส่วนรวม


งานใดบ้างที่ต้องใช้ความรู้เศรษฐศาตร์?
ควรต้องเปลี่ยนคำถามว่า งานใดบ้างที่ไม่ต้องใช้ความรู้เศรษฐศาสตร์ เพราะทุกงานไม่ว่าจะเป็นงานส่วนตัว ธุรกิจ ส่วนรวม หรือ ระดับชาติ ต้องใช้ความรู้เศรษฐศาสตร์แทบทั้งนั้น
ในครัวเรือน ต้องตัดสินใจเรื่องการเลือกซื้อสินค้าที่เหมาะกับความจำเป็นและรายได้ การซื้อสินค้าผ่อนส่ง การซื้อบ้านที่อยู่อาศัย การซื้อรถยนตร์ที่คุ้มค่า การใช้โทรศัพท์มือถือ การประกันชีวิต ประกันอัคคีภัย การออมที่งอกเงยและปลอดภัย การเลือกอาชีพที่เหมาะสมที่สุด การเลือกการพักผ่อนในวันหยุด การเลือกที่เรียนให้ตนเองและบุตรหลาน การใช้บัตรเครดิต ฯลฯ คนจำนวนมากตัดสินใจโดยใช้ราคาเป็นตัวเลือก อย่างที่ทำกันอยู่ ย่อมเป็นวิธีที่ไม่ฉลาด
ในธุรกิจ ต้องการทราบต้นทุนรวม ต้นทุนต่อหน่วยสินค้า จุดคุ้มทุน ระยะเวลาคุ้มทุน ค่าเสียโอกาส การสูญเสียในการผลิต จุดรั่วไหล ค่าใช้จ่ายในการใช้เครื่องมือการผลิต รายได้และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเมื่อเพิ่มการผลิต การประมาณอุปสงค์ของลูกค้า ความยั่งยืนของธุรกิจ กำไรที่แท้จริง การเก็บวัตถุดิบที่พอเหมาะพอดี การเก็บเงินสดในปริมาณที่พอเหมาะ สภาพการเปลี่ยนแปลงของคู่แข่งขัน สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ สภาวะเศรษฐกิจของโลก ฯลฯ
ในระดับชาติ ต้องการวางนโยบายเพื่อความเป็นธรรมและความเจริญ จึงมีการตัดสินใจเกี่ยวกับ นโยบายการคลัง (ภาษี และ ค่าใช้จ่ายของรัฐบาล) การกู้ยืมเงินจากแหล่งใด วิธีใดจึงดีกว่า การกำกับธนาคาร นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน นโยบายปริมาณเงิน ขอบเขตของการส่งเสริมการลงทุนแก่คนต่างชาติ ค่าเสียโอกาสของประชาชนในส่วนรวม การแก้ปัญหาความยากจน การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ
รัฐวิสาหกิจ รัฐสวัสดิการ การแก้ปัญหาคนว่างงาน ความสูญเสียของการดื่มสุรา ความสูญเสียจากการจราจรติดขัด ความคุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่าของการผลิตกุ้งกุลาดำและมันสำปะหลังเพื่อส่งขายต่างประเทศ ฯลฯ
งานเหล่านี้ต้องการนักเศรษฐศาสตร์เป็นผู้วิเคราะห์และตัดสินใจ อาจต้องทำละเอียดถึงขั้นวิจัย คนในสาขาวิชาอื่นอาจทำได้ แต่ไม่เป็นระบบที่เชื่อถือได้ เพราะไม่สามารถพิจารณาครบระบบ อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์ปฏิบัติได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ หากท่านเรียนรู้เศรษฐศาสตร์ให้จริงจัง ก็ไม่น่าเป็นห่วงว่าจะไม่มีอาชีพ เพียงแต่ท่านเป็นคนประเภทไหน รู้จริง หรือเพียงแค่ได้ปริญญามาใบหนึ่งเท่านั้น

ลักษณะงานของนักเศรษฐศาสตร์
นักเศรษฐศาสตร์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ในลักษณะต่อไปนี้
 วิเคราะห์แยกแยะหาความจริง (analysis)
 นำเรื่องหรือส่วนย่อยต่างๆมาแสดงให้เห็นเป็นระบบรวม (synthesis)
 ทำการวิจัย (research)
 พยากรณ์ (forecasting) และ
 แนะนำ(advising)ผู้วางนโยบายหรือผู้ปฏิบัติ

ฉะนั้นนักเศรษฐศาสตร์จึงไม่มีปัญหาว่า “ไม่รู้จะทำอะไรดี” เพียงแต่ว่า เมื่อเรียนเศรษฐศาสตร์ ก็ต้องเรียนให้รู้จริง เพื่อปฏิบัติงานได้จริง หากรู้ไม่จริงก็ทำงานไม่ได้ หรือทำความเสียหายใหญ่หลวงให้แก่ตนเอง และผู้อื่น

งานอาชีพสำหรับนักเศรษฐศาสตร์อยู่ที่ไหนบ้าง?
อาชีพ คือ การทำงานเพื่อหารายได้ หรือหาปัจจัยเลี้ยงชีวิต ซึ่งทำได้สองอย่าง คือ อาชีพส่วนตัวที่มีกิจการของตนเอง กับ อาชีพเป็นลูกจ้างผู้อื่น
นักเศรษฐศาสตร์ สามารถประกอบอาชีพส่วนตัวได้ดี เพราะเข้าใจความต้องการของลูกค้า เข้าใจกลไกการผลิต เข้าใจการคิดต้นทุนที่แท้จริง รู้จักลักษณะตลาด เห็นช่องทางหารายได้ เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม ไม่เชื่อตามกระแส สามารถพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงสามารถประกอบกิจการส่วนตัวได้อย่างดี
นักเศรษฐศาสตร์ ที่ไม่อยากรับผิดชอบกิจการของตัวเอง ก็อาจมีอาชีพเป็นลูกจ้างผู้อื่นได้อย่างกว้างขวาง งานที่มีให้ทำมีมากมาย
ราชการ : หน่วยงานราชการต้องการนักเศรษฐศาสตร์ทุกกระทรวง เพื่อวางแผนงาน
วิเคราะห์งาน ประเมินผลงาน และ เป็นอาจารย์ในสายวิชาเศรษฐศาสตร์
รัฐวิสาหกิจ : (ซึ่งหลายแห่งเป็นบริษัทไปแล้ว และ กำลังแปรรูปเป็นบริษัท) ต้องการนัก
เศรษฐศาสตร์ เพื่อทำงานเกี่ยวกับการวางแผนงาน วิเคราะห์งาน ประเมินผลงาน รวม
ทั้งจัดการกับปัญหาการตลาด วิเคราะห์การผลิต วิเคราะห์ต้นทุน การเตรียมวัสดุคง
คลังเพื่อให้พอการผลิตและจำหน่ายโดยประหยัดและไม่เสียงาน
 โรงงานอุตสาหกรรม และ บริษัท ขนาดใหญ่ ต้องการนักเศรษฐศาสตร์เพื่อทำหน้าที่อย่างเดียวกับรัฐวิสาหกิจ
 สถาบันการเงิน : เช่น ธนาคาร บริษัทเงินทุน เครดิตฟองซิเอร์ บริษัทประกันภัย ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจให้กู้เงิน มีงานให้นักเศรษฐศาสตร์ทำในหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อ (ให้กู้ไปแล้วมีปัญญาชำระหนี้หรือไม่) พยากรณ์สภาพเศรษฐกิจ (ก็เพื่อทราบว่าผู้กู้เงินไปจะมีรายได้พอชำระหนี้หรือไม่) ธนาคารรับนักเศรษฐศาสตร์เข้าทำงานเป็นจำนวนมาก
 สื่อมวลชน : เช่น สถานีโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์รายวัน และ วารสารต่างๆ ต้องการนักเศรษฐศาสตร์ วิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจ และ เขียนบทความให้ความรู้แก่ผู้อ่าน
 องค์การระหว่างประเทศ : รับนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความรู้ภาษาต่างประเทศดีมาก เข้าทำงานเพื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจตามลักษณะงานที่ต่างกันไปแต่ละองค์การ ได้รับเงินเดือนสูงมาก

ไม่เห็นจะมีปัญหาว่า เรียนจบปริญญาเศรษฐศาสตร์แล้วไม่มีงานทำ เพียงแต่ว่า ท่านจะต้องสร้าง
องค์ประกอบให้พร้อมที่ทำงานได้ เช่น
ใช้คอมพิวเตอร์เป็น
ภาษาต่างประเทศดี
มีบุคลิกดี คือ การแต่งกายสุภาพเหมาะสม ท่วงท่าการพูดจาดี มีกิริยา
มารยาทสมบัติผู้ดี มีการตัดสินใจอย่างมีหลักเกณฑ์
มีความรู้ จริงในวิชาเศรษฐศาสตร์
พร้อมที่จะทำงานหนัก และกล้ารับผิดชอบกับงานยาก
นักศึกษาทุกคนที่หางานทำไม่ได้ หรือ ไม่สามารถประกอบอาชีพเองได้ เนื่องจากขาดองค์ประกอบดังกล่าวมานี้

คนที่มีลักษณะอย่างไรจึงควรเรียนเศรษฐศาสตร์
คนที่จะเรียนเพื่อรับปริญญาเศรษฐศาสตร์ ควรมีลักษณะดังนี้
 พร้อมสู้ในชีวิต ไม่กลัวงานยาก
 ชอบคิดหาเหตุผล มากกว่าใช้ความจำ หรือเชื่อตามๆกัน
 ไม่เกลียดคณิตศาสตร์ (มันไม่ยากมากอย่างที่กลัวกันหรอก ไม่มีใครเคยตายเพราะเรียนเศรษฐศาสตร์ )
 ชอบอาชีพท้าทาย ที่ไม่ค่อยมีใครกล้าทำ
ถ้าท่านมีคุณสมบัติดังกล่าว ก็ควรเรียนเศรษฐศาสตร์

คนที่มีลักษณะอย่างไรไม่ควรเรียนเศรษฐศาสตร์
คนที่มีลักษณะต่อไปนี้ ไม่ควรเรียนเพื่อรับปริญญาเศรษฐศาสตร์
 หนักไม่เอา เบาไม่สู้ อยากมีชีวิตสบาย อยากมีคนป้อนให้กิน อยากเป็นดารา
 ไม่กล้าคิด ใครชักชวนอะไรก็เชื่อหมด ถามอะไรก็ตอบว่า “ไม่รู้ ไม่อยากรู้”
 เกลียดคณิตศาสตร์ (ทั้งที่คณิตศาสตร์ เป็นวิชาที่ง่ายที่สุดในโลก เพราะมันคือภาษา และ เป็นภาษาที่พูดแทนเราได้ด้วย ที่เรารู้สึกว่ายากก็เพราะไม่มีครูอาจารย์ที่มีความสามารถสอนเรา)
 ชอบอาชีพง่ายๆ คิดง่ายๆ ทำง่ายๆ อาชีพที่ใครๆก็ทำได้
ถ้าท่านมีลักษณะอย่างนี้ อย่ามาเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์เลย จงไปหาเรียนวิชามีคุณค่าน้อยๆจะ
เหมาะกว่า

ขอให้ข้อคิดว่า
 เกิดมาทั้งที ต้องเอาดีให้ได้ ทำไมจะยอมปล่อยชีวิตหาแต่ความง่าย กลัวยาก กลัวลำบาก จงเรียนและทำงานที่มีลักษณะท้าทาย
 อย่าเรียนวิชาที่คนอื่นเขาเรียนกันเต็มบ้านเต็มเมือง หลับตาเอาก้อนดินขว้างไป ก็ตกใส่หัวคนที่จบปริญญาที่ล้นตลาดนั้น

จงตระหนักว่า ปลาตายเท่านั้นที่ลอยตามน้ำ คนที่สิ้นหวังหมดท่าเท่านั้น ที่ทำอะไรเอาง่ายเข้าว่า

โปรดทราบว่า วิชาเศรษฐศาสตร์ ไม่ยากอย่างที่กลัว แต่ไม่ง่ายพอที่คนเกียจคร้านจะเรียนได้สำเร็จ

ดร. บุญเสริม บุญเจริญผล
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก
กม.1 ถนนรามอินรา เขตบางเขน กทม. 10220
โทร 02- 970 5820 ต่อ 208 แฟกซ์ ต่อ 224

ชุลี ชัยนันท์
ป้าย (คำหลัก): เศรษฐศาสตร์
โดย Mrs. Chulee lee Chaiyanan ลิงค์ที่อยู่ถาวร ข้อคิดเห็น (0) [ แก้ไข ลบ ]
สร้าง: จ. 12 ก.พ. 2550 @ 11:17 แก้ไข: จ. 12 ก.พ. 2550 @ 11:17
« เก่ากว่า ใหม่กว่า »

Comments

Popular posts from this blog

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับธุรกิจ

การเดินทางของวิชาเศรษฐศาสตร์