การเดินทางของวิชาเศรษฐศาสตร์

การเดินทางของวิชาเศรษฐศาสตร์
การเดินทางของวิชาเศรษฐศาสตร์สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้เริ่มกระบวนการย้ายสังกัดสถานที่ทำวิทยานิพนธ์ของผมอย่างเป็นทางการ เป้าหมายหลักคือเพื่อที่จะเปลี่ยนหัวข้อวิทยานิพนธ์ให้กลายเป็นเรื่องเกี่ยวกับ Mechanism Design ซึ่งเป็นหัวข้อเล็กๆหัวข้อหนึ่งที่กำลังเป็นที่สนใจในทฤษฎีเกม

ไม่น่าเชื่อว่าการดำเนินการของผมนำมาซึ่งคำถามมากมายกว่าที่คิดจากผู้คนรอบๆตัวที่นี่ โดยคำถามหลักสองอย่างคือ Mechanism Design มันคืออะไร ? และ การเรียนทฤษฎีเกมมีประโยชน์อะไร ?

ด้วยข้อจำกัดทางด้านภาษาประกอบกับความคิดที่ว่าตอบคำถามเหล่านี้ให้คนไทยอ่านให้ประโยชน์(ทางจิตใจ)กับผมมากกว่า ผมจึงตัดสินใจเขียนบทความนี้ขึ้นมา โดยหวังว่าอาจจะช่วยเพิ่มเพื่อนร่วมทางเดินของผมในอนาคต...

วิชาเศรษฐศาสตร์คลาสสิกซึ่งถือกำเนิดขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ให้คำอธิบายกับเรื่องต่างๆโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่กลไกตลาด

ซึ่งหมายถึงการปรับตัวของเส้นอุปสงค์ เส้นอุปทาน และจุดดุลยภาพ ภายใต้ข้อสมมุติของตลาดรูปแบบต่างๆ โดยข้อสมมุติของตลาดที่ถูกหยิบยกนำมาใช้มากที่สุดก็คือตลาดแข่งขันสมบูรณ์

ภายใต้ตลาดแบบนี้ ผู้ซื้อและผู้ขายนำสินค้ามาขายกันในตลาด ภายใต้ราคาดุลยภาพซึ่งถูกกำหนดโดยเส้นอุปสงค์และอุปทานของตลาด ราคาดุลยภาพดังกล่าวเป็นราคาเพียง "ราคาเดียว" ที่เกิดขึ้น และผู้ซื้อและผู้ขายทุกคนจะต้องซื้อขายสินค้ากันที่ราคานี้

ที่ผลสรุปอย่างนี้เกิดขึ้นก็เนื่องมาจากเรามีข้อสมมุติมากมายเกี่ยวกับตลาดแข่งขันสมบูรณ์ โดยข้อสมมุติอันหนึ่งก็คือ ในตลาดดังกล่าวมีผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมหาศาล ดังนั้นถ้าผู้ขายคนใดตั้งราคาไว้สูงกว่าราคาดุลยภาพ ผู้ซื้อก็สามารถหันไปซื้อสินค้าจากผู้ขายรายอื่นได้

ไม่มีนักเศรษฐศาสตร์ผู้ใดกล่าวอ้างว่าตลาดแข่งขันสมบูรณ์เป็น "ความจริง" ข้อสมมุติต่างๆของตลาดก็มีไว้เพื่อให้กรอบความคิดดังกล่าวมีความ "ง่าย" ในการวิเคราะห์เพียงเท่านั้น แต่เราสามารถประยุกต์เอากรอบความคิดง่ายๆแบบนี้ไปใช้อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆในความเป็นจริงได้ เช่น ราคาที่เพิ่มสูงขึ้นของสินค้าเกษตรภายหลังเกิดอุทกภัย หรือราคาทองคำและน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นภายหลังการเปิดประเทศของจีนและอินเดีย เป็นต้น

ด้วยกรอบความคิดง่ายๆแต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้อธิบายได้หลากหลาย เราจึงเคยได้ยินคำกล่าวว่าวิชาเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ทรงพลังมากวิชาหนึ่ง

อย่างไรก็ตามเราเห็นข้อจำกัดของกรอบความคิดดังกล่าวเมื่อเราตั้งคำถามที่ลึกซึ้งมากขึ้น เราเห็นราคาสบู่ที่หลากหลายทั้งๆที่ดูเหมือนว่าสินค้าดังกล่าวจะมีลักษณะใกล้เคียงกัน เราเห็นลูกค้าซื้อกางเกงยีนส์แบบเดียวกันจากร้านเดียวกันในราคาแตกต่างกัน เราเคยเห็นคนกรุงเทพฯเลือกผู้ว่าฯที่แย่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ฯลฯ

สองตัวอย่างแรกข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการซื้อขายสินค้าลักษณะเดียวกันที่ราคาเดียวในตลาดไม่เป็นความจริง และตัวอย่างทั้งหมดแสดงให้เราเห็นว่าคนมี "พฤติกรรมเชิงกลยุทธ์ (Strategic Behaviors)" โดยพฤติกรรมของพวกเขาไม่ได้ขึ้นกับสภาวะตลาดเพียงเท่านั้น แต่จะคาดเดาการกระทำของบุคคลอื่นๆในตลาดก่อนแล้วค่อยตัดสินใจเลือกการกระทำของตนเอง

ผู้ผลิตสบู่มองว่าผู้ซื้อให้มูลค่ากับสินค้าของตนแตกต่างจากสินค้าอื่นๆ ซึ่งทำให้เขาตัดสินใจตั้งราคาที่แตกต่างจากผู้ผลิตรายอื่น ผู้ซื้อสามารถใช้กลยุทธ์ต่างๆ เช่น สีหน้า ท่าทาง หรือแม้แต่

การเดินเข้าเดินออกร้าน เพื่อต่อรองราคากางเกงยีนส์กับผู้ขาย คนกรุงเทพฯเลือกผู้ว่าฯที่แย่ที่สุด

คนดังกล่าวทั้งๆที่รู้อยู่แก่ใจว่าจะเป็นผู้ว่าฯที่

แย่ เนื่องจากคาดเดาไว้ว่าผู้อื่นจะเลือกผู้สมัครอีกคนหนึ่งซึ่งตนเองไม่ชอบมากกว่าเข้าไปเป็นผู้ว่าฯแทน

พฤติกรรมเหล่านี้สร้างพื้นที่ให้กับทฤษฎีเกมในวิชาเศรษฐศาสตร์ ทฤษฎีเกมมีพื้นฐานอยู่บนการตัดสินใจเลือกพฤติกรรมเชิงกลยุทธ์ โดยผู้เล่นจะคำนึงถึงการตัดสินใจของผู้เล่นคนอื่นด้วยเป็นสำคัญ เนื่องจากการกระทำของผู้เล่นคนอื่นสามารถเปลี่ยนแปลงระดับประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับจากการร่วมเล่นเกมดังกล่าว

แม้ว่าทางเลือกที่หนึ่งอาจให้ประโยชน์กับตนเองสูงสุด แต่ผู้เล่นอาจตัดสินใจเลือกทางเลือกที่สองเพราะคาดเดาว่าผู้เล่นอีกคนหนึ่งจะตัดสินใจเลือกการกระทำ ที่ทำให้ทางเลือกที่สองของตนให้ประโยชน์มากกว่าทางเลือกแรก

นี่เป็นมูลค่าสำคัญที่ทฤษฎีเกมมอบให้กับวิชาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งทำให้วิชาเศรษฐศาสตร์ในยุคปัจจุบัน ถูกนำไปประยุกต์ใช้อธิบายพฤติกรรมต่างๆของมนุษย์ได้กว้างขวางมากขึ้นกว่าเดิมมากมาย

ยกตัวอย่างเช่น การใส่ทฤษฎีเกมเข้าไปในเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม สามารถอธิบายการรวมตัวกำหนดราคาน้ำมัน ของประเทศในกลุ่มโอเปกได้ ทฤษฎีเกมสามารถอธิบายพฤติกรรมการเสนอราคาประมูล ของผู้เข้าแข่งประมูลภายใต้กฎการประมูลแบบต่างๆกันได้ ทฤษฎีเกมสามารถอธิบายพฤติกรรมของผู้จัดการบริษัท ที่ผิดไปจากเจตนารมณ์ของผู้ถือหุ้น ภายใต้ผลประโยชน์ทับซ้อนได้ หรือแม้แต่มันยังถูกนำไปใช้ในการอธิบายปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับประชาชนในการกำหนดนโยบายเชิงมหภาคต่างๆ โดยในอนาคตเราคาดว่าทฤษฎีเกมจะถูกนำไปประยุกต์ใช้เพื่ออธิบายพฤติกรรมต่างๆที่กว้างขวางมากกว่าในปัจจุบันอีกมาก

ในปัจจุบันยังมีการพัฒนาการศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีเกมไปสู่รูปแบบใหม่ๆ โดยในเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือการศึกษาในลักษณะกลับด้านของการศึกษาทฤษฎีเกมรูปแบบเดิมๆ ซึ่งผมขอเรียกการศึกษารูปแบบนี้ว่า Mechanism Design

การศึกษาในรูปแบบนี้จะเริ่มจากการ

กำหนดลักษณะคร่าวๆที่ไม่สมบูรณ์ของเกม และกำหนด "จุดมุ่งหมาย" ซึ่งก็คือผลลัพธ์ที่ผู้ศึกษาต้องการจะได้จากเกมดังกล่าว จากนั้นผู้ศึกษาจะออกแบบส่วนประกอบที่ขาดหายไปของเกมเพื่อให้เกมดังกล่าวมีผลลัพธ์สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายที่ได้กำหนดเอาไว้

ยกตัวอย่างเช่น เราเคยประยุกต์ใช้ทฤษฎีเกมในการอธิบายพฤติกรรมของผู้เข้าร่วมประมูลสินค้าภายใต้ "กฎเกณฑ์การประมูล" แบบต่างๆในอดีต ภายใต้ Mechanism Design เรากำหนดเป้าหมายเอาไว้ก่อนว่าเราต้องการผลลัพธ์ของการประมูลซึ่งทำให้ผู้ขายสินค้ามีรายได้สูงสุด จากนั้นเราจะออกแบบ "กฎเกณฑ์การประมูล" เพื่อให้ผลลัพธ์ของการประมูลสร้างรายได้สูงสุดให้กับ

ผู้ขาย

มีการประยุกต์ใช้การศึกษาในรูปแบบ Mechanism Design อีกหลากหลายแบบ โดยในการประยุกต์หลักๆ ผมเหมารวมไปถึงสิ่งที่เราเรียกกันว่า "ทฤษฎีสัญญา (Contract Theory)" ซึ่งถึงแม้ว่าแบบจำลองจะมีลักษณะแตกต่างไปบ้างเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าอาศัยแนวคิดที่ใกล้เคียงกัน ลักษณะของทฤษฎีสัญญาจะเป็นไปดังตัวอย่างข้างล่างนี้

ผู้จ้างต้องการให้ลูกจ้างขยันทำงาน โดยที่

ผู้จ้างไม่สามารถคอยสอดส่องพฤติกรรมของลูกจ้างได้ทั้งวัน อย่างไรก็ตามผู้จ้างได้เคยเรียนรู้ว่าลูกจ้างจะมีพฤติกรรมอย่างไรภายใต้สัญญาจ้างแบบต่างๆ ทฤษฎีสัญญาจะออกแบบข้อกำหนดในสัญญาจ้างที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง นั่นคือทำให้ลูกจ้างขยันทำงานให้มากที่สุด ถึงแม้นายจ้างจะไม่สามารถคอยสอดส่องพฤติกรรมของพวกเขาได้

จากจุดเริ่มต้นเหล่านี้ การศึกษาในรูปแบบ Mechanism Design ได้ขยายไปสู่การประยุกต์ใช้ในเรื่องราวต่างๆที่น่าสนใจ ยกตัวอย่างเช่น การออกแบบระบบสัมปทานรัฐเพื่อให้รัฐมีรายได้จากการประมูลสัมปทานที่มากที่สุด การออกแบบสัญญาจ้าง CEO ของบริษัทเพื่อให้ CEO ดังกล่าวมุ่งทำตามจุดมุ่งหมายของผู้ถือหุ้น หรือในอนาคตเราอาจสามารถออกแบบสัญญาจ้างนายกรัฐมนตรีที่จะทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองได้สูงที่สุด ทั้งๆที่เราไม่สามารถสังเกตเห็น "ตัวความดี" ในตัวนายกฯของเราได้ก็ตาม

ด้วยการศึกษาในลักษณะ Mechanism Design เป็นการศึกษาในลักษณะกลับด้านของการศึกษาทฤษฎีเกม ดังนั้นผมคิดว่าโจทย์ส่วนใหญ่ที่เราสามารถใช้ทฤษฎีเกมอธิบายได้ ก็สามารถถูกศึกษาได้ในลักษณะ Mechanism Design เช่นเดียวกัน

มีคำวิจารณ์ทฤษฎีเกมในหลากหลายแง่มุม ซึ่งส่วนใหญ่มักพูดถึงความซับซ้อนของทฤษฎีเกมในการสร้างแบบจำลองเพื่ออธิบายพฤติกรรมง่ายๆของมนุษย์ ซึ่งทำให้มันเป็นเรื่องยากที่จะสร้างเกมที่มีความซับซ้อนใกล้เคียงกับโลกแห่งความจริง นอกจากนั้นผลลัพธ์ของทฤษฎีเกมยังขึ้นอยู่กับแนวคิดในเรื่องดุลยภาพที่ใช้เป็นสำคัญ เพราะความหมายของดุลยภาพที่แตกต่างกันทำให้ผลลัพธ์ในทฤษฎีเกมแตกต่างกันออกไป

Mechanism Design เป็นแนวทางการศึกษาที่มีพื้นฐานอยู่บนทฤษฎีเกม ดังนั้นการศึกษา Mechanism Design ก็ไม่สามารถหลีกพ้นไปจากข้อจำกัดของทฤษฎีเกมไปได้ ซึ่งก็เป็นที่มาของมุมมองที่ว่าการศึกษาในรูปแบบนี้มีประโยชน์จำกัดต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในโลกแห่งความจริง

แต่ผมก็ยังเชื่อมั่นว่าเราจะมีทฤษฎีในรูปแบบนี้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นในอนาคต ด้วยกระบวนวิธีการพัฒนาความรู้ในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์

ภาวิน ศิริประภานุกูล pawin@econ.tu.ac.th ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 3774 (2974)

( เมทินี เอนกสุข)

ป้าย (คำหลัก): student
โดย Mrs. Chulee lee Chaiyanan ลิงค์ที่อยู่ถาวร ข้อคิดเห็น (1) [ แก้ไข ลบ ]
สร้าง: อ. 02 ม.ค. 2550 @ 13:33 แก้ไข: อ. 02 ม.ค. 2550 @ 13:33
« เก่ากว่า ใหม่กว่า »

Comments

Popular posts from this blog

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับธุรกิจ

ความสำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์ม�