สามก๊กตอนขงเบ้งสอนวิธีการขจัดปัญหา : แก้ที่เหตุมิใช่อาการ

สามก๊กตอนขงเบ้งสอนวิธีการขจัดปัญหา : แก้ที่เหตุมิใช่อาการ
คอลัมน์ คลื่นความคิด โดย สารสิน วีระผล มติชนรายวัน วันที่ 01 สิงหาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 10005
ในหลักสูตรการอบรมพนักงานระดับผู้บริหารของบริษัทฉางเจียงอิเลคโทคนิคส์ ขงเบ้งกุนซือของเล่าปี่ได้ไห้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการรับมือกับสถานการณ์ที่ผันผวนในตลาดการค้าไว้ดังนี้ :-
1.แก้โรคปวดหัว สำคัญที่บำบัดสาเหตุของความปวดมากกว่าระงับความปวด การจัดการกับปัญหาในองค์กร ก็มีส่วนคล้ายกับการแก้ปัญหาปวดศรีษะ "คนทั่วไปเวลาปวดหัวมักจะคิดถึงอาการปวด และมุ่งแต่จะรับประทานยาแก้ปวด เพื่อให้อาการปวดทุเลาลง และเมื่อยิ่งปวดมากก็จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณรับประทานจนกว่าอาการจะยุติ"
ขงเบ้งกล่าวต่อไปว่า "วิธีรักษานี้เป็นการรักษาที่ "ปลายเหตุ" เป็นการแก้ปัญหา "เฉพาะหน้า" โดยพุ่งเป้าไปที่ "อาการ" ของปัญหา"
ขงเบ้งเปิดเผยผลการสำรวจโรคปวดหัวของกระทรวงสาธารณสุขว่า อาการปวดหัวกว่า 60% เกิดจากปัญหาที่ดูเสมือนเป็นโรคปวดประสาท สามารถแก้ได้โดยการรักษา "เชิงป้องกัน" แต่แนวทางนี้ต้องใช้ความอดทน ต้องคอยสังเกตอาการเพื่อเลี่ยงการกระทำที่ก่อให้เกิดอาการปวด แต่ผลการรักษาย่อมดีกว่าการจัดการที่ปลายเหตุ ที่พยายามระงับอาการของปัญหา และเมื่ออาการทุเลาลงก็พยายาม "หลอก" ตัวเองว่า ขจัดปัญหาดังกล่าวได้แล้ว!
2.วิธีแก้ปัญหาการบริหารบุคคลที่ยั่งยืน
("วิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย ปี 2540" กระทบประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียอย่างกว้างขวางว่า สำหรับประเทศที่ตัดสินใจแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเข้าไปจัดการกับต้นตอของปัญหาอย่างเช่นเกาหลีใต้ ไม่เพียงสามารถเอาตัวรอดพ้นจากวิกฤตได้ แต่ยังพัฒนาเศรษฐกิจไปได้ดีกว่าเดิม แต่สำหรับประเทศที่ใช้มาตรการชั่วคราวนั้น สังเกตได้ว่า "อาการ" ของปัญหาเพียงหลบซ่อน ยังมิได้ถูกขจัดไปอย่างแท้จริง)
ขงเบ้งยกเหตุการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นกับรัฐจิ้น ในยุค "ชุนชิว" ของประวัติศาสตร์จีนเมื่อ 700 กว่าปีก่อนคริสตกาล ซึ่งรัฐจิ้นต้องเผชิญปัญหาความมั่นคงและความสงบจากการก่อการโดยโจรผู้ร้ายอย่างหนัก ประชาชนและข้าราชการได้รับเคราะห์กรรมทั่วหน้า บ้านเมืองระส่ำระสาย ผู้ปกครองรัฐจิ้นจึงสั่งการให้ปราบปรามโจรผู้ร้ายอย่างเด็ดขาด หน่วยรักษาความปลอดภัยต่างใช้มาตรการรุนแรงโดยหวังกำจัดปัญหาให้สิ้นซาก แต่ผลกลับปรากฏตรงกันข้าม คือไม่เพียงแต่จะปราบไม่สำเร็จ แต่โจรผู้ร้ายกลับยิ่งเหิมเกริมกว่าเดิม
บังเอิญมีชายผู้หนึ่งชื่อหลินหย่ง ว่ากันว่ามีคุณสมบัติพิเศษ สามารถบอกได้ว่าใครเป็นโจรผู้ร้าย เพียงดูหน้าตาของบุคคลคนนั้น กองกำลังรักษาความปลอดภัยของรัฐจึงว่าจ้างเข้าร่วมการปราบโจร ซึ่งภายในไม่ช้าสามารถจับโจรผู้ร้ายได้หลายคน สามารถเรียกขวัญกำลังใจกลับมาได้พอสมควร
ผู้ปกครองรัฐจิ้นปลื้มปีติเป็นอย่างมาก จึงทุ่มการสนับสนุนวิธีการของบุคคลดังกล่าว เพราะดูเสมือนว่าปัญหาโจรผู้ร้ายจะแก้ไขได้ในเร็ววัน
ขุนนางใหญ่ชื่อ จ้าวเหวินจื่อ ได้เรียนผู้ปกครองรัฐจิ้นว่า "ข้าฯขอตั้งข้อสังเกตว่า แม้ทางการจะจับโจรผู้ร้ายได้เพิ่มขึ้น แต่เกรงว่าคงยังไม่สามารถแก้ปัญหาแบบถอนรากถอนโคนได้ เนื่องจากโจรผู้ร้ายจำนวนหนึ่ง ยังสามารถหลบหนีซุกซ่อน ตามรอยต่อกับรัฐอื่นได้ โดยเฉพาะโจรพวกนี้ มีชาวบ้านคอยเป็นหูเป็นตาและส่งน้ำส่งข้าวให้ ทำให้ศัตรูรู้การเคลื่อนไหวของเราได้ นอกจากนี้ โจรที่ถูกฆ่าตายก็มีสมัครพรรคพวกเคียดแค้นเราและคอยคิดแก้แค้น นอกเหนือจากนั้นยังมีลูกหลานและญาติมิตรของโจรที่คอยเข้าร่วมขบวนการของโจร เพราะพวกเขาไม่มีทางออกทางอื่น ภายใต้นโยบายกวาดล้างของทางการ ดีไม่ดีจำนวนของผู้ก่อการอาจเพิ่มสูงขึ้นได้ในที่สุด ฉะนั้น ท่านต้องไตร่ตรองดูว่าการจัดการกับปัญหาต้องแก้ไขอย่างถาวรได้อย่างไร ซึ่งคงไม่ใช่เพียงพึ่งบุคคลคนเดียว หากเราฝากความหวังทั้งหมดที่นายหลินหย่ง พวกโจรก็คงคิดได้เช่นเดียวกันว่า ถ้าสามารถกำจัดคนคนนี้เสียทุกอย่างก็คงจะดีขึ้น...!
เหตุการณ์ต่อมาเป็นไปตามที่ขุนนางจ้าวเหวินจื่อคาดเดาไว้ คือโจรผู้ร้ายสบโอกาสลอบสังหารนายหลินหย่งได้สำเร็จ แผนการปราบปรามโจรของรัฐจึงต้องล้มเหลว
ผู้ปกครองรัฐจิ้นจึงเรียกขุนนางจ้าวเหวินจื่อมาปรึกษาแผนต่อสู้โจรใหม่ ขุนนางจ้าวเสนอความเห็นดังนี้ :- "ก่อนอื่นจะต้องรู้จักใช้คนดี (เสียนเหริน) ใช้มาตรการที่มีจริยธรรมและเมตตาธรรม อบรมฝูงชนให้เข้าใจหลักการ และวิถีการดำรงชีวิตที่ถูกต้อง และการพัฒนาจิตใจ ให้สามารถแยกแยะระหว่างความถูกผิด ให้รู้จักหิริโอตตัปปะ สร้างความสามัคคีปรองดองกัน และปลุกระดมให้เคารพต่อกฎหมาย ที่ให้ประโยชน์ในการคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของเขา เจ้าหน้าที่รัฐต้องพยายามละเว้นพฤติกรรมข่มเหงและทำร้ายผู้บริสุทธิ์ มาตรการทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลาดำเนินการ แต่เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ยอมรับอยู่แล้วในหลักการ ซึ่งรัฐต้องทำให้คนทั่วไปเห็นว่า โจรชั่วที่ไม่กลับใจหยิบมือเดียว เมื่อนั้นประชาชนจะมั่นใจว่าทางการปราบปราม และควบคุมสถานการณ์ความปลอดภัยและรักษาผลประโยชน์ของพวกเขาไว้ได้ และในที่สุดหากประชาชนส่วนใหญ่พร้อมจะต่อสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวม พวกโจรเหล่านี้ก็จะไม่มีแหล่งปฏิบัติการต่อไป"
ผู้ปกครองรัฐรับนำคำแนะนำของขุนนางจ้าวเหวินจื่อไปปฏิบัติ โดยใช้เจ้าหน้าที่ดีและเก่งเข้าไปฟื้นฟูชีวิต และจิตใจของราษฎรในพื้นที่ที่มีปัญหาโจรก่อการ ในไม่ช้าก็สามารถกู้สถานการณ์ให้กลับคืนมาสู่ปกติได้
ขงเบ้งกล่าวต่อผู้บริหารในเชิงสรุปว่า :-
"ในการบริหารจัดการบุคคลก็เช่นเดียวกัน ผู้บริหารจะมุ่งแต่ใช้บทลงโทษคงไม่พอ การดำเนินการอบรมสั่งสอน เพื่อหล่อหลอมให้พนักงานเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะนี่คือมาตรการ "ป้องปราม" ทำให้พวกเขาไม่มีพฤติกรรมแอบทำสิ่งชั่วร้ายลับๆ ล่อๆ (โทวจีหมอโก่ว) แต่เป็นผู้รักษากฎกติกา เป็นพนักงานซื่อสัตย์ ไม่เอารัดเอาเปรียบบริษัทหรือเพื่อนพนักงาน นักปราชญ์รุ่นเซียน เหลาจื้อ เคยกล่าวว่า "กฎ(หมาย)ยิ่งมาก โจรผู้ร้ายยิ่งชุก" (ฝาหลิ่ง จือจาง เต้าเจ๋ยตัวโหย่ว) ดังนั้น หากสังคมมีวิธีอบรมความมคิดให้รู้จักและเข้าใจหลักการที่ถูกต้อง สังคมนั้นย่อมสามารถรักษาความสงบได้อย่างถาวรยั่งยืน"
3.แก้ปัญหาสินค้าราคาสูงมิขึ้นอยู่ที่ตรึงราคา : บทเรียนจากวิชาเศรษฐศาสตร์ขั้นต้น
ขงเบ้งแถมท้ายโดยยกตัวอย่างจากประวัติศาสตร์จีนสมัย "ชุนชิว" ตอนที่รัฐฉู่เกิดภัยแล้ง และปัญหาฝูงแมลงจั๊กจั่นทำลายพืชผลของชาวนาอย่างกว้างขวางจนทำให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงทั่วไป ทางการจึงออกประกาศสั่งห้ามพ่อค้าข้าวฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า แต่คำสั่งดังกล่าวกลับมีผลทำให้ตลาดขาดแคลนข้าว และพ่อค้าต่างก็ยังสามารถแอบขายข้าวได้ในราคาสูง เนื่องจากอุปทานน้อยกว่าอุปสงค์เป็นหลายๆ เท่า
ขุนนางชื่อเจิ้นหยุ่น จึงแนะนำผู้ปกครองรัฐฉู่ว่า ควรออกประกาศใหม่อนุญาตให้พ่อค้าจากทุกแห่ง นำข้าวไปขายที่รัฐฉู่ได้โดยรัฐจะไม่กำหนดราคา ผลปรากฏว่า พ่อค้าจากทุกทิศต่างพากันบรรทุกข้าวไปขายที่รัฐฉู่ ทำให้ราคาข้าวในท้องถิ่นลดลงมากกว่าเดิม
ขงเบ้งอธิบายหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานว่า : ในยามที่ตลาดมีสินค้ามากราคาก็ย่อมต่ำ แต่ในทางกลับกัน หากตลาดมีของน้อย ราคาก็ย่อมแพงเป็นธรรมดา
หน้า 20
เกี่ยวกับผู้เขียน : เป็นดอกเตอร์ทางด้านประวัติศาสตร์และภาษาเอเชียตะวันออกจากมหาวิทยาฮาร์วาร์ด และเคยรับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ ตำแหน่งสุดท้ายคือรองปลัดกระทรวง ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์

sv=1.2;ss=screen.width+'*'+screen.height;sc=(bn=='MSIE')?screen.colorDepth:screen.pixelDepth;if(sc==udf){sc='na';}
sv=1.3;

Comments

Popular posts from this blog

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับธุรกิจ

การเดินทางของวิชาเศรษฐศาสตร์

ความสำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์ม�