บทความหมากล้อมจากหนังสือ CEO โลกตะวันออก (บทที่ 4)

บทความหมากล้อมจากหนังสือ CEO โลกตะวันออก (บทที่ 4)
วัน พุธ 04 มิ.ย. 03 @ 07:48
หัวข้อ: เก็บมาฝาก


บทที่4 หมากล้อม : ศาสตร์แห่งกลยุทธ์
CEO ทุกคนย่อมต้องการความสำเร็จ
แต่ความสำเร็จจะเป็นของผู้มีกลยุทธ์เท่านั้น
และการเรียนรู้ศาสตร์แห่งกลยุทธ์ที่ดีที่สุด
ก็คือการเรียนรู้จาก “หมากล้อม”

คนจำนวนมากพยายามแสวงหากลยุทธ์ที่เหมือนบะหมี่สำเร็จรูป ที่ฉีกซองแล้วนำไปลวกน้ำร้อนทานได้ทันที จึงขวนขวายหา “Case Study” หรือ “กรณีศึกษา” ในอดีตเพื่อจะนำ มาก๊อบปี้ โดยหลงลืมไปว่าเราก้าวเข้าสู่โลกของยุคดิจิตอล ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การจะนำเอากรณีศึกษาที่เคยเกิดขึ้นภายใต้สภาวการณ์อย่างหนึ่งในอดีต มาใช้ปัจจุบันซึ่งอยู่ในภาวะแวดล้อมและเงื่อนไขที่แตกต่างกันจึงอันตราย อย่างยิ่ง อาจจะนำไปสู่ความล้มเหลวทางธุรกิจก็ได้ ถ้าไม่ระมัดระวังเพียงพอ ผมจึงอยากเสนอให้เรียนรู้กลยุทธ์จาก “หมากล้อม” ซึ่งเป็น “กลยุทธ์บริสุทธิ์” ที่สอนให้เรารู้จักปรับตัวตามสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็น “กลยุทธ์ที่ยืดหยุ่น” ตามสภาพความเป็นจริง ซึ่งถ้าเราเรียนรู้จนซึมลึกเข้าสู่กระแสเลือด เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกสถานการณ์ ไม่มีวันเข้าตาจน

ผมทุ่มเทเวลากว่า 20 ปีในชีวิต ครุ่นคิดและดื่มด่ำอยู่กับหมากเม็ดดำเม็ดขาว เรียนรู้เรื่องราวของการสู้รบ จนค้นพบเคล็ดลับสำคัญที่ว่า “ชนะได้เพราะไม่คิดเอาชนะ!” ปรัชญาที่แปลกประหลาดจากความรู้สึกของคนทั่วไป คือความยิ่งใหญ่ของหมากกระดานชนิดนี้

หมากล้อมมีที่มาจากไหน เข้าในว่าพัฒนามาจาก “โต๊ะทราย” ในสมัยโบราณ ถ้าท่านนึกถึงภาพยนตร์ฝรั่งที่มีนายทหารนั่งล้อมรอบโต๊ะตัวใหญ่ บนโต๊ะมีตัวตุ๊กตาที่เป็นทหาร เครื่องบิน เรือรบ อะไรทำนองนี้ นี่แหละครับคือ “โต๊ะทราย” ซึ่งมาจากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “Situation Map Table” หมายถึงโต๊ะแสดงแผนที่เหตุการณ์ในการรบ ซึ่งคงจะปูด้วยทราย จึงเรียกกันว่า “โต๊ะทราย”

กระดานหมากล้อมซึ่งประกอบไปด้วย เส้นตรง 19 เส้นตัดกับเส้นขวาง 19 เส้น ก็เป็นเช่นเดียวกับโต๊ะทรายที่ใช้ในการศึก โดยเม็ดหมากหนึ่งเม็ด หมายถึง หนึ่งกองร้อย เนื่องจากหมากล้อมหนึ่งกระดาน มีจุดตัดถึง 361 จุด เท่ากับกระดานหมากรุกทั่วไป ห้ากระดาน มาเรียนต่อเข้าด้วยกันแล้ว ถอดขอบออก การปะทะกันของกองกำลัง จึงเกิดขึ้นได้อย่างกระจัดกระจาย เกิดแนวรบมากมาย กองทัพหนึ่งอาจต้องรบบน รบล่าง รบซ้าย รบขวา ซึ่งใกล้เคียงกับการเกิด “สงคราม” (War) ในโลกของความเป็นจริง ที่แต่ละสงครามจะประกอบด้วยหลาย “สนามรบ” (Battles) ถ้าเราลำดับเหตุการณ์ย้อนหลังไปยังยุคต้นรัตนโกสินทร์ ไทยทำศึกกับพม่าใน “สงครามเก้าทัพ” นั่นหมายความว่าพม่ายกกองทัพถึงเก้ากองบุกโจมตีไทย จากทุกทิศทุกทาง ผู้บัญชาการรบจึงต้องมองภาพรวมทั้งหมด แล้วจึงตัดสินใจวางแผนรับมืออย่างเหมาะสม เนื่องจากความไม่พร้อมด้านกำลังพล เสบียง และอาวุธ จึงอาจต้องยอมแพ้ในบางสมรภูมิ เพื่อจะได้ชัยชนะในสงคราม…มิใช่ชนะสนามรบ แต่แพ้สมคราม นี่คืนการบริหาร เพราะการบริหารคือการใช้ทรัพยากรที่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด นี่คือสิ่งที่ทำให้ “จอมทัพ” แตกต่างจาก “แม่ทัพ” ธรรมดาทั่วไป ในขณะที่แม่ทัพจะดูแลสนามรบหรือสมรภูมิใดก็ตาม ก็มุ่งมั่นที่จะหาทางเอาชนะศึกสมรภูมินั้น แต่คนเป็น “จอมทัพ” ต้องอ่านทะลุจุดแข็งจุดอ่อนของทั้งสองฝ่ายด้วยใจ เป็นกลาง เยือกเย็น สุขุม รอบคอบ รู้จักผ่อนหนัก ผ่อนเบา รู้รุก รู้ถอย ต้องไม่ใช่คนที่หลับหูหลับตาเชื่อว่าแม่ทัพนายกองของเรา จะเก่งกว่าฝ่ายตรงข้ามทั้งหมด จนตัดสินใจผิดพลาดเพราะความประมาทลำพอง

เมื่อ “จอมทัพ” มองเห็นภาพรวมองทั้งสงคราม จึงต้องวางกลยุทธ์ของแต่ละสนามรบ ให้สอดคล้องส่งเสริมกัน จนนำไปสู่ชัยชนะในสงคราม จอมทัพจะไม่ยอมให้แม่ทัพ ใช้กลยุทธ์ในสนามรบของตัวเองตามอำเภอใจ ซึ่งอาจจะส่งผลดีต่อสนามรบของตัวเอง แต่สร้างปัญหาให้แก่สนามรบข้างเคียง เพราะการทำสงครามต้องทำเป็น “ทีมเวิร์ก” ไม่ใช่การ “โชว์อ๊อฟ” ของ “ฮีโร่” คนใดคนหนึ่ง ในขณะเดียวกันแม่ทัพก็ต้องเรียนรู้ที่จะมองภาพรวมก่อนจะวางกลยุทธ์ โดยคำนึงถึงเงื่อนไขเวลาที่จำกัด, ปัจจัยภายในภายนอก และสิ่งแวดล้อม ที่แปรเปลี่ยนตลอดเวลา ทั้งนี้ยังต้องอยู่ในแนวทางของนโยบายที่จอมทัพวางไว้ด้วย

มีตัวอย่างคลาสสิกในยุคโบราณของจีน เกี่ยวกับกลยุทธ์การรับมือฝ่ายตรงข้าม เรื่องมีอยู่ว่า… มีการแข่งขันกัน 3 คู่ ฝ่ายที่ได้ชัยชนะมากที่สุดจะได้ครองดินแดนของอีก แคว้นหนึ่ง สมมติสองแคว้นนี้คือ แคว้น ก.ไก่ กับ แคว้น ข.ไข่ แคว้น ก.ไก่ สืบทราบมาว่า แคว้น ข.ไข่ จะจัดส่งม้าฝีเท้าระดับเกรด A , B และ C ลงแข่งตามลำดับ ในรอบแรก… แคว้น ก.ไก่ จึงจัดส่งม้าฝีเท้าระดับ C ของตนลงแข่งกับม้าฝีเท้าระดับ A ของ แคว้น ข.ไข่ ผลออกมา แคว้น ก.ไก่ แพ้ ไปหนึ่งรอบ รอบสอง… แคว้น ก.ไก่ ส่งม้าฝีเท้าระดับ A ลงประกบกับม้าระดับ B ของฝ่าย ตรงข้าม ปรากฏว่ารอบนี้แคว้น ก.ไก่ เป็นฝ่ายชนะ รอบสาม… แคว้น ก.ไก่ ส่งม้าฝีเท้าระดับ B ลงประกบกับม้าระดับ C ของแคว้น ข.ไข่ แคว้น ก.ไก่ จึงชนะไปตามคาด โดยสรุปแล้ว แคว้น ก.ไก่ ชนะ สองในสาม ถือเป็นผู้ชนะที่แท้จริง ได้ครอบครองดินแดนของฝ่ายตรงข้ามตามข้อตกลง นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า แพ้ก่อนไม่ได้หมายความว่าจะแพ้ไปตลอด ยอมสูญเสียในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องสูญเสีย แล้วสงวนกำลังไว้ใช้ในยามที่เหมาะสมจะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่า

มีคำพูดประโยกหนึ่ง กล่าวไว้ดีมากว่า “ถ้าคุณแพ้ไม่ได้ คุณก็จะชนะไม่เป็น!” ฝากไว้ให้คิดต่อนะครับ กลับมาที่เรื่องกลยุทธ์องเราอีกครั้ง ผมขอยกตัวอย่างง่าย ๆ อีกสังเรื่อง สมมติในการสอบวิชาคณิตศาสตร์ มีข้อสอบอยู่ 4 ข้อ ข้อละ 25 คะแนนเท่ากัน มีเวลาจำกัดที่ 1 ชั่วโมงเต็ม นักเรียนที่มีกลยุทธ์ จะเลือกทำข้อที่ง่ายและพอทำได้ก่อน เวลาที่เหลือจึงทำข้อที่ยาก ซึ่งไม่ว่าจะทำไม่ทันหรือทำไม่ได้ ก็มีคะแนนข้อที่ง่ายทำไว้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แม้จะทำได้เพียง 2 ข้อ ก็ยังสอบผ่าน 50%

ในกรณีเดียวกัน ถ้านักเรียนที่ไม่มีกลยุทธ์ อยากเอาชนะข้อที่ยากก่อน ปรากฏว่าเขาทำสำเร็จ แต่ทำเสร็จข้อเดียวก็หมดเวลาแล้ว ถึงจะแสดงว่าสมองปราดเปรื่องมาก แต่ก็สอบตก เพราะได้คะแนนเพียง 25% เท่านั้น นี่คือตัวอย่างที่กระตุ้นเตือนให้เรา ใช้ชีวิตอย่างมีกลยุทธ์ ยังมีคนจำนวนไม่น้อยสับสนระหว่างคำว่า กลยุทธ์ (Strategy) กับ นโยบาย (Policy) กลยุทธ์คือการมีเป้าชัดเจนที่จะบรรลุและวิธีการต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่เป้า หมายนั้น วิธีการต่าง ๆ หรือเรียกว่า “Tactics” จะถูกร้อยเรียงใช้ร่วมไปในทิศทาง ของเป้า เหมือนดอกไม้หลาย ๆ ดอก ถูกร้อยเรียงเป็นพวงมาลัย ส่วนนโยบายจะไม่กำหนดเป้าหมาย แต่จะเป็นแนวทางว่าควรหรือไม่ ควรอย่างไร เช่น บริษัท SUMITOMO ยักษ์ใหญ่ 1 ใน 5 ของญี่ปุ่น มีนโยบายจะไม่ทำธุรกิจเก็งกำไร ถ้าไม่มีนโยบายนี้คอยกำกับไว้ สาขาของบริษัทฯ ซึ่งมีอยู่ทั่วโลก อาจจะมีหลายแห่งคิดซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร เมื่อเศรษฐกิจโลกทรุดตัว ที่ดินราคาร่วง แถมยังขายไม่ออก บริษัทคงต้องเสียหายเข้าขั้นอาการสาหัส เช่นเดียวกับ ธนาคารแบริ่ง ของอังกฤษ ซึ่งไม่ได้วางนโยบายป้องกันการเก็งกำไรไว้ จึงถูกเด็กหนุ่มนามว่า นิค ลีสัน ทำให้ธนาคารเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ต้องล้มละลายลงในชั่วพริบตา ยกตัวอย่างใกล้ตัวหน่อย เครือ ซี.พี. มีนโยบายคุณภาพสินค้าต้องเป็นเลิศ จะไม่ทำกำไรจากการผลิตของไม่ได้มาตรฐาน สมมติบริษัทหนึ่งในเครือฯ มียอดขายย่ำแย่ก็เลยคิดไม่ดี แอบลดคุณภาพสินค้าและขายในราคาถูก จนทำให้ยอดขายทะลุเป้ามีกำไรมากมาย แต่ผลสุดท้าย ทำให้สินค้าของทั้งเครือฯ ขาดความน่าเชื่อถือ นโยบายจึงต้องมีไว้เพื่อกำกับกลยุทธ์อีกชั้นหนึ่ง คนที่ไม่มีนโยบาย ไม่มีกลยุทธ์ อาจจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเก่ง เอาตัวรอดไปวัน ๆ แต่จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายใหญ่ของชีวิต ยกตัวอย่าง ศรีธนญชัย แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเก่ง อาศัยความกะล่อน เอาชนะคนอื่น ๆ สุดท้ายมีแต่คนเกลียดชัง น่าเสียดาน ที่สังคมไทยพากันยกย่องคนฉลาดแกมโกงประเภทนี้ มักชื่นชมยินดีที่เอาเปรียบคนอื่นได้ โดยลืมไปว่า ทุกสิ่งที่ได้มามีต้นทุนทั้งนั้น และหลาย ๆ ครั้ง ต้นทุนที่ต้องจ่ายนั้น แพงกว่าสิ่งที่ได้มาหลายเท่านัก มีนักธุรกิจจำนวนมากที่ได้ลาภมาจากการหักเหลี่ยมผู้อื่น โดยลืมคิดไปว่าจะนำพาทุกข์ภัยมาให้ในอนาคต บางครั้งอาจเป็นภัยใหญ่หลวงถึงแก่ชีวิต !

หมากล้อมเป็นหมากกระดานชนิดเดียวที่มีภาพย่อยในภาพรวม จึงสอนให้รู้ถึงผลกระทบของเรื่องหนึ่งไปยังเรื่องอื่น ๆ และผลระยะยาวต่อภาพรวม หมากล้อมสอนให้เราตระหนังถึงศักยภาพของฝ่ายตรงข้าม ตระหนังถึงต้นทุนของชัยชนะในแต่ละเรื่อง หมากล้อมจึงสอนให้เรารู้จักกระทำการอย่างมีกลยุทธ์ ดำเนินชีวิตอย่างมีนโยบาย

จากนโยบายหมากล้อม อาจสรุปได้ว่า การคิดเอาชนะคนอื่น มีต้นทุนสูง มีผลเสียมากว่าผลดี ในระหว่างการเล่น เราต้องคุมตัวเองไม่ไปคิดเอาชนะ (แต่ไม่ยอมแพ้ แล้วเราจะเล่นยังไงล่ะ!??) แท้จริงคือการแข่งกันทนยั่วจากสถานการณ์ ทีมาชักจูงให้เกิดความโลภอยากทำลายคู่ต่อสู้ ผู้ชนะคือผู้ที่ทนยั่วที่จะเอานะได้นานกว่า เพราะอีกฝ่ายที่อยากเอาชนะจะแพ้ให้ก่อน ผู้ที่ไม่คิดเอาชนะก็จะกลายเป็นชนะไปเอง การชนะจึงมาจากที่สังคมมอบให้ ห้ามไปเอามา!!!

ในชีวิตประจำวัน เราก็ไม่ควรไปเอาชนะใคร เพราะใคร ๆ ก็ไม่อยากแพ้ และเสียหน้า องค์กรควรใช้ทรัพยากรที่มีน้อยไปในการพัฒนาตนเอง หนีคู่แข่ง ไม่ควรใช้ทรัพยากรไปในการทำลายคู่แข่ง เพราะนอกจากจะสร้างความบาดหมาง แล้วยังมิได้ใช้ทรัพยากรไปในทางสร้างสรรค์

ชัยชนะที่แท้จริง
คือการบรรลุเป้าหมายของงาน
ไม่ใช้การเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง
และนี่คือเหตุผลเบื้องหลังปรัชญา
“ชนะได้เพราะไม่คิดเอาชนะ!”








บทความนี้มาจาก สมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย
http://www.thaigo.org

URL สำหรับเรื่องนี้คือ:
http://www.thaigo.org/modules.php?name=News&file=article&sid=12


บทความหมากล้อมจากหนังสือ CEO โลกตะวันออก (บทที่ 5)
วัน พุธ 04 มิ.ย. 03 @ 08:09
หัวข้อ: เก็บมาฝาก


บทที 5 เต๋าแห่งกลยุทธ์
จากหมากล้อมสู่ปรมาณู
ทุกครั้งที่มีการบรรยายเรื่องหมากล้อม ผมมักตั้งคำถามหลอกล่อให้ผู้ฟังติดกับว่า หมากล้อมที่มีเพียงเม็ดดำกับเม็ดขาวยังยากถึงเพียงนี้ ถ้าเราเพิ่มเม็ดหมากให้มี 4 สี เช่นฝ่ายหนึ่งเล่น ขาว-เหลือง, อีกฝ่ายหนึ่งเล่น ดำ-แดง เกมจะซับซ้อนยากขึ้นไหม?

ผู้ฟังส่วนใหญ่มักตอบว่ายากขึ้น แต่ความจริงกลับตรงกันข้าม! ทำไมหรือครับ…ผมจะอธิบายให้ฟัง ถ้ากระดานว่างเปล่าวางอยู่ตรงหน้า เมื่อดำจะวางหมากครั้งแรกจะมีทางเลือก 361 จุด ขาววางในลำดับถัดมาจะมีทางเลือก 360 จุด กลับมาถึงคิวของดำก็ยังวางได้ทั่วกระดาน 359 จุด ถ้าวางหมากใกล้ขาวก็คือการโจมตี ถ้าวางใกล้ดำก็คือการรวมกลุ่มเพิ่มกำลัง ความพลิกแพลงของหมากล้อมกระดานนี้ จึงเท่ากัล 361x360x359…หรือ 361!

เคยมีผู้คำนวณคร่าว ๆ ว่า มีค่า =10ยกกำลัง768 ซึ่งไม่รู้จะอ่านว่าเท่าไหร่ จึงทำให้ตลอด 3,000 กว่าปีมานี้ ยังไม่มีเกมที่ซ้ำกับเลยแม้แต่กระดาน เดียว! คราวนี้ก็เปลี่ยนมาเล่น 4 สี สมมติว่าฝ่ายเล่นขาว – เหลือง เมื่อจะวางหมากสีเหลือง จะวางใกล้เม็ดหมากสีเหลืองด้วยกันเองก็ได้ แต่จะไม่วางใกล้กลุ่มเม็ดหมากสีขาว เพราะเท่ากับวางหมากโจมตีตัวเอง กลายเป็นภาระทางใจที่ต้องคอยกังวลเพิ่มขึ้น และโอกาส (Probability = ค่าความน่าจะเป็น) ในการวางหมากในจุด ต่าง ๆ ลดลง จะเห็นได้ว่า ถ้าชนิดของตัวเล่นมีมาก จะยิ่งลดความพลิกแพลงลงเรื่อย ๆ ยิ่งถ้าเป็นการเล่นหมากรุก ซึ่งมีชนิดของตัวหมากหลากหลายประเภท แถมยังมีกติกามาจำกัดการเดินของหมากเพิ่มขึ้นไปอีก (เช่นม้ามีทางเลือกเดินได้ 8 จุดรอบตัว, เรือต้องเดินเป็นเส้นตรงเป็นต้น) ทำให้คาดเดาการเดินของกมากได้ไม่ยากนัก จนกระทั่งมีการคิด “หมากกล” เป็นสูตรสำเร็จขึ้นมาเพื่อเอาชนะฝ่ายตรง ข้าม ดังนั้น ข้อสรุปจากประวัติศาสตร์นับพันปีของการเล่นหมากล้อม จึงเลือกใช้เพียง 2 สี คือขาวกับดำ และไม่มีข้อจำกัดการเดินในรูปแบบ ต่าง ๆ เช่นเดียวกับ หมากรุก ทำให้หมากล้อมเป็นเกมที่พลิกแพลงเปลี่ยนแปลงได้ลึกล้ำ จนคอมพิว- เตอร์คำนวณตามไม่ทัน!

พูดถึง “คอมพิวเตอร์” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทันสมัยที่สุด ก็มีจุดเริ่มต้นที่เลขฐานสอง คือ ศูนย์กับหนึ่ง (0,1) เพราะให้ความพลิก แพลงได้สูงสุด อภิปรัชญาจีน ซึ่งมีอายุยาวนานกว่า 4,000 ปี ก็เชื่อว่าจักรวาลกำเนิด จาก ขั้วพลัง 2 ขั้ว คือ “หยิน” กับ “หยาง” ดังที่ เล่าจื้อ (อายุน้อยกว่าพระพุทธเจ้า 50 ปี) เขียนไว้ใน คัมภีร์เต๋าเต็ก เก็ง บทที้ 42 ว่า

“เต๋าให้กำเนิดแก่หนึ่ง
หนึ่งให้กำเนิดสอง
สองให้กำเนิดสาม
สามให้กำเนิดสรรพสิ่ง”
“หนึ่ง” ในที่นี้คือ “ไท้เก๊ก” (ภาวะสูงสุด)
“สอง” ในที่นี้คือ “หยิน” และ “หยาง”
“สาม” ในที่นี้คือ “ขั้นที่ 3” ไม่ใช่แตกตัวเป็นสาม
แต่หมายถึง “หยิน” และ “หยาง” มาทำปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ก่อให้เกิดสรรพสิ่งในจักรวาล

ด้วยฐานความรู้ของวิชาฟิสิกส์ในปัจจุบัน เราพบว่าวัตถุทุกอย่างมีองค์ประกอบมาจากร้อยกว่าธาตุ ทุก ๆ ธาตุจะมี อะตอม ในอะตอมจะมีอิเล็กตรอน, โปรตรอน, นิวตรอน ซึ่งจะมีจำนวนแตกต่าง กันไปตามแต่ละธาตุ

เล็กกว่าอิเล็กตรอน คือ ควอนตัม องค์ประกอบของควอนตัมยังมี ควาร์ก ชนิดต่าง ๆ ซึ่งก็คือ เม็ดพลังใน จักรวาล ระหว่างเม็ดพลังต่าง ๆ จะมีช่องว่างคั่นไว้ หรือภาวะที่ไม่มีพลัง “มีพลัง” เทียงได้กับ “หยาง” , “ไม่มีพลัง” เทียบได้กับ “หยิน”

ในขั้นที่ 3 เกิดปฏิกิริยาจาก “หยาง” ไปสู่ “หยิน” คือพลังงานกลายเป็นอะตอม โมเลกุล เป็นวัตถุ จาก “หยิน” ไปสู่ “หยาง” คือวัตถุสลายตัวไปเป็นพลังงาน (ระเบิดปรมาณูก็คือเครื่องพิสูจน์ทฤษฎี Fisson & Fusion ซึ่งตรงกับ อภิปรัชญาของเต๋า) กระบวนการขั้นที่ 3 นี้ ก่อให้เกิดสรรพสิ่งนานา ในเอกภพของเรา ชีวิตมนุษย์ในแต่ละวัน ก็สลับกันไปมาอยู่ 2 ขั้ว เช่น ทุขก์ – สุข, สูง – ต่ำ, มี – ไม่มี เพียงแค่ความเปลี่ยนแปลงระหว่าง ทุกข์ กับ สุข ก็ก่อให้เกิดละครชีวิตของทุกผู้ทุกนาม ตั้งแต่เกิดจนตาย มาตั้งแต่ โบราณกาลจวบจนปัจจุบัน ไปถึงกาลอนาคต

หมากล้อมที่มีตัวเล่นน้อยที่สุด คือ ดำ – ขาว ก็ก่อให้เกิดเกมที่พลิกแพลงอย่างสุดยอด เช่นเดียวกับเกมชีวิตที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงในทุกขณะจิต ทุก ๆ เม็ดที่วางหมาก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งกระดาน เสมือนชีวิตของคนทั้งโลก ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะอย่างสุดหยั่งคาด การฝึกหมากล้อมจึงเป็นการฝึกรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปรอยู่ ตลอดเวลา ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้เลย แต่เราจะอยู่กับชีวิตที่ไร้เสถียรภาพและความมั่นคงได้อย่างไร การเข้าใจหลักต่าง ๆ ของเกมหมากล้อมจะช่วยเป็นแนวทางในการดำรง ชีวิตให้แก่เรา

เล่าจื๊อ : ความว่างสร้างสรรพสิ่ง ……………………………

ข้อคิดสำคัญข้อหนึ่งซึ่งหมากล้อมสอนเราก็คือ ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นบนความว่าง เช่น วางเม็ดหมากลงบนจุดที่ว่าง โลกโคจรไปได้ก็เพราะมีที่ว่าง ไม่เช่นนั้นก็คงต้องชนปะทะกับสิ่งอื่นพัง พินาศไปแล้ว สมมติมีคนผู้หนึ่ง จะต้องถูกตำรวจจับในอีก 3 วันข้างหน้าด้วยข้อหาที่ ชัดเจน เขาจะต้องพบกับสภาพอันน่าอเนจอนาถ ซึ่งเขาทนรับไม่ได้เลยชิงฆ่าตัวตายไปก่อนเพราะไม่มีความว่างในใจ ถ้าเขาจะมีชีวิตอยู่ต่อก็เพราะเขายังมีความหวัง เนื่องจากมีความว่างมากพอที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

เล่าจื้อมักจะพูดถึงประโยชน์ของความว่าง ในคัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง บทที 11 ก็ได้กล่าวถึงประโยชน์ของ “ความว่าง” ไว้ดังนี้

“ซี่ล้อสามสิบซี่สามารถเสียบเข้าไปในดุมล้อ เพราะดุมล้อว่าง จึงเกิดคุณประโยชน์ของล้อขึ้น เมื่อปั้นดินเป็นภาชนะ เพราะภาชนะนั้นว่าง จึงใช้ประโยชน์จากภาชนะได้ เจาะประตูหน้าต่างสร้างห้องหับขึ้น อาศัยความว่างภายใน จึงใช้ประโยชน์จากห้องหับนั้นได้ ดังนั้น ‘ความมี’ จะอำนวยประโยชน์และความสะดวกได้ ก็โดยอาศัย ‘ความว่าง’ เป็นพื้นฐาน”

ติดตามก็จะเห็นความเป็นจริง ประโยชน์อยู่ที่ความว่าง จึงสามารถ “บรรจุ” สิ่งต่าง ๆ ได้ คงไม่มีใครซื้อรถเบนซ์ตัน ๆ แต่ราคาถูกมาใช้ เพราะเข้าไปนั่งไม่ได้

ผมมีมือ 2 มือ ถ้ามือขวาถือไมค์กำลังบรรยายอยู่ มือซ้ายย่อมมีประโยชน์กว่า เพราะเอื้อมไปหยิบอะไรก็ได้ แต่ถ้าจะใช้มือขวาไปหยิบจับอย่างอื่น ก็ต้องวางไมค์ก่อ มือขวาต้อง “ว่าง” ก่อน จึงจะใช้ประโยชน์ได้อีก มนุษย์เราจึงต้องรู้จักละวาง ทำตัวให้ “ว่าง” เพื่อจะทำคุณประโยชน์ได้อย่างไม่สิ้นสุด ในเกมหมากล้อม เมื่อเราเล่นมาถึงกลางกระดาน ถ้าเราเล่นหมากสีดำ เราจะพบว่ามีหมากดำกลุ่มต่าง ๆ เล็กใหญ่เป็น 10 กลุ่ม ทุกครั้งที่จะวางหมากเม็ดใหม่ เราจะมีภาระทางใจกดทับอยู่ หมากเม็ดเดียว ไม่สามารถส่งไปช่วยทุกกลุ่มได้ในคราวเดียวกัน การไปช่วยทุกกลุ่มเวียนกันไปก็ไม่สามารถช่วยทุกกลุ่มได้ดีพอ ถ้าเรายอมสละให้ห้อยลง อาจเหลือเพียง 6 กุล่ม เราจะดูแลได้ดีขึ้น เช่นเดียวกับชีวิตของเรา ที่เดินมาถึงครึ่งทาง ได้สร้างปัญหาและภาระสะสมมากมาย ไม่ว่าจะเรื่องสมาชิกในครอบครัว สถานะในสังคมรวมทั้งความกดดดันจากหน้าที่การงาน ยิ่งถ้าใครเป็นเจ้าของธุรกิจ และแต่ละธุรกิจกำลังเสียหาย เวลา 24 ชั่วโมงใน 1 วัน ย่อมไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมกันหมายสิบหลายร้อยเรื่อง ดังนั้นการ “กล้าทิ้ง”,”กล้าตัดใจละวาง” จึงช่วยเพิ่ม “ความว่าง” ลดภาระ ซึ่งก็คือการเพิ่มพลังให้แก่ตนเอง

สุดยอดกลยุทธ์ คือ การสงวนพลังและละวางตนเอง ……………………………….

พลังคือสิ่งที่มีจำกัด พลังจึงมีค่าต้องใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ พลังขององค์กรมาจากคน, เงินทุน, เวลา, เทคโนโลยี, ปัจจัยภายในและ ภายนอก หลอมรวมเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสม การใช้พลังจึงต้องใช้อย่างมีกลยุทธ์ การยุทธ์ในการใช้พลังก็คือ “ใช้พลังให้น้อยที่สุดโดยให้ได้ผลมากที่สุด” ดังคำกล่าวในภาษิตจีนที่ว่า “ใส่พลังครึ่งหนึ่ง ได้ผลเกินคาดเป็น 2 เท่า” ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ แผนการนั้นต้องสอดคล้องกับสังคม โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตนน้อยที่สุดหรือไม่คำนึงถึงเลย ตรงข้ามแผนการที่หวังจะเอาประโยชน์ใส่ตัว ต้องคอยกลบเกลื่อน หลบซ่อน จะใช้พลังงานมากเกินกว่าที่ควร กลายเป็นใช้พลัง 2 เท่า แต่ได้ผลเพียงครึ่งเดียว ทั้งเล่าจื้อและหมากล้อมต่างสอนไม่ให้ฝืนธรรมชาติ ซึ่งก็คือการฝืนกับส่วนรวมแล้วเอาประโยชน์เข้าตัว นอกจากเล่าจื้อก็ยังมีขงจื้อจอมปราชญ์ทางด้านวัฒนธรรมของจีน ต่างก็เน้นให้ทำประโยชน์แก่ส่วนรวม แม้ผลงานสำเร็จแล้วก็ไม่เรียกร้องผลตอบแทนทั้งลาภ ยศ สรรเสริญ และสูงสุดก็คือการ Fade Out สลายตัวจากไปจนไร้ร่องรอย

ยกตัวอย่างเปรียบเทียบ เช่นเดียวกับการตัดถนน เราย่อมต้องการให้ถนน “สั้น” ที่สุด ที่จะถึงจุดหมาย ก็จะเปลืองวัสดุ, แรงงาน และทรัพยากรอื่น ๆ น้อยที่สุด แต่ถ้าต้องตัดถนนเลี่ยงหรือเข้าหาพื้นที่ของพรรคพวกเราเองเพื่อผล ประโยชน์และให้ได้ราคา ถนนนั้นย่อมต้องยืดยาวเกินกว่าที่ควรจะเป็น ดังคำกล่าวที่ว่า “คนคด ถนนก็คด!!” ในบรรดาแผนการทั้งหมดอาจมีโอกาสพิเศษ ที่แผนการนั้นจะประสบความสำเร็จอย่างสุดยอด ก็คือผู้วางแผนยอมสละชีวิตเข้าแลก เช่นในภาพยนตร์เรื่อง ARMAGEDDON ตัวเอกต้องวางแผนเพื่อต่อสู้กับอุกกาบาตที่กำลังจะชนโลก คนวางแผนรู้ว่ามีหนทางเดียว หลังจากช่วยให้คนอื่นปลอดภัยแล้ว จะต้องเหลือตนเองเป็นคนสุดท้ายเพื่อกดระเบิดปรมาณูที่ฝังบนอุกกาบาต ให้แตกกระจุย เพราะตนเองเป็นผู้เดียวที่มีความสามารถทนสภาวะเลวร้ายไปถึงวินาที สุดท้าย ที่จะทำลายอุกกาบาตและต้องทำลายชีวิตตัวเองไปพร้อม ๆ กัน ผู้ที่จะทำเช่นนี้ได้ต้องมีสภาพจิตใจที่พร้อมที่สุด มีความเข้มแข็ง กล้าหาญ และเสียสละ ยอมสังเวยชีวิตตนเองเพื่อให้แผนบรรลุผล โชคดีที่หนังสือเล่มนี้พิมพ์ขึ้นหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน ซึ่งเกิดโศกนาฏกรรมเครื่องบินพุ่งชนอาคาร WORLD TRADE ในนครรัฐนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 รัฐบาลสหรัฐฯ หรือใครก็ตามไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่า จะมีคนกล้าตายขับเครื่องบินของอเมริกาชนตึกยักษ์ที่เป็นสัญลักษณ์ของ อเมริกา โดยผู้จี้เครื่องบินต้องยอมตามไปด้วย แผนนี้ประสบความสำเร็จเพราะผู้ดำเนินตามแผนไม่ห่วงแม้แต่ชีวิตของตน ถ้าหนังสือเล่มนี้พิมพ์ก่อนเกิดเหตุ ผมอาจถูก C.A.I. เพ่งเล็งว่าเป็นพวกเดียวกับ บิน ลาเดน!

เราคงต้องแยกแยะประเด็นให้เห็นชัดเจน ระหว่างการพลีชีพเพื่อชาวโลกในหนัง AEMAGEDDON ซึ่งเป็นเรื่อง น่าชมเชย กับการก่อวินาศกรรมทำร้ายผู้บริสุทธิ์ที่สมควรได้รับการประณาม เพราะไม่มีใครมีสิทธิ์จะนำชีวิตผู้อื่นมาเซ่นสังเวยตามความเชื่อของตน

ทำสงครามด้วยความรัก ………………………….

คำสอนของเต๋า เน้นให้ประหยัดพลัง การไม่ยึดติดในทางตัณหา อยากมี อยากเป็น ทำให้ไม่หลงในวัตถุจึงไม่จำเป็นต้องเปลืองพนังแสวงหาสิ่งต่าง ๆ มา บำเรอความสุข แนวคิดของเต๋า ดูเหมือนตรงกันข้ามกับค่านิยมของสังคมโลก แต่เป็นสัจธรรมที่ควรทำความเข้าใจให้ลึกซึ้ง จะเป็นผู้นำยิ่งต้องถอยมาอยู่ข้างหลัง ไม่ใช่ยืนกร่างอยู่ข้างหน้า เพราะจะได้ความร่วมมือร่วมใจจากผู้อื่น แม้แต่ “การรบ” ก็ต้องใช้ “ความรัก” เป็นหลักยึด ลองนึกภาพของทหารที่ออกรบอย่างถวายชีวิต เพราะความรักในบ้านเกิดเมืองนอนของตน หรือแม่ที่มีพลังจะปกป้องลูกจากผู้ที่มารังแก

ในคัมภร์พิชัยสงคราม 13 บทของซุนวู ก็มีคำสอนในทำนองเดียวกัน เนื่องจากซุนวูกัยเล่าจื้อ อยู่ในยุดเดียวกันคือยุคสงครามระหว่างรัฐ แผ่นดินเดือนร้อนทุกหย่อมหญ้า เพราะการช่วงชิงอำนาจของเจ้านครรัฐ ต่าง ๆ ซุนวู จึงมิได้แต่งคัมภีร์พิชัยยุทธ์เพื่อให้เจ้านครรัฐผู้กระหายเลือด รบชนะทุกสมรภูมิรบ และทวีความกระหายเลือดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซุนวูกล่าวไว้พิชัยสงครามบทที่ 13 ซึ่งอาจถือเป็นบทสรุปแนวคิดของซุนวู ดังนี้

“ในการระดมทัดนับแสน ออกทำศึกพันลี ราษฎรต้องเดือนร้อนรับภาระ เนื่องจากราชสำนักมีค่าใช้จ่ายวันละพันตำลึงทอง ทั่วประเทศป่วนปั่นสิ้นสันติสุข พสกนิกรอ่อนล้าจากการส่งส่วยเสบียง และถูกเกณฑ์ไพร่พลทุกหนทุกแห่ง ไม่อาจประกอบสัมมาชีพถึงเจ็ดสิบหมืนครอบครัว”

สงครามเป็นสิ่งไม่ดีควรหลีกเลี่ยง เพราะการเตรียมทัพต้องสร้างความลำบากแกราษฎร ต้องสูญเสียทรัพยากรทั้งวัตถุและคน และการรบยังหมายถึงการบาดเจ็บล้มตายของประชาชน เสี่ยงต่อการพ่ายแพ้ ซึ่งนำความหายนะมาสู่ประเทศ หลังสงครามก็จะเกิดทุพภิกขภัยและโรคระบาด การศึกจึงเป็นเรื่องอัปมงคลอย่างยิ่ง

ซุนวูสนับสนุนให้ “ชนะโดยไม่ต้องรบ” ดังที่กล่าวไว้ในพิชัยสงคราม บทที่ 3 ว่า “ในยุทธวิธีทั้งปวง สามารถสยบข้าศึก (โดยไม่เสียเลือดเนื้อ) ถือว่าเป็น เลิศ การตีกองทัพข้าศึกให้แตกพ่าย ถือเป็นรอง”

“ดังนั้น รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง จึงมิจัดว่าเยี่ยมยอด ทว่าข้าศึกยอมสยบโดยมิต้องรบ จึงนับว่ายอดเยี่ยมอย่างแท้จริง”

“สูงสุดคือ ชนะโดยใช้กุศโลบาย รองลงมาคือ ชนะโดยใช้การทูต รองลงมาอีกคือ ชนะโดยทำลายการกองทหารของฝ่ายตรงข้าม ขั้นต่ำสุดคือ ชนะโดยการบุกโจมตีเมืองของข้าศึก”

นอกจากนี้ ซุนวูยังให้ความสำคัญกับการใช้ “จารชน” หรือ “สายลับ” เพื่อหาเหตุที่จะก่อให้เกิดสงครามจะได้ระงับเหตุดังกล่าวตั้งแต่ต้น ซุนวูบันทึกไว้อย่างชัดเจนในบทที่ 13 ว่า

“หากตระหนี่ในยศศักดิ์และทรัพย์สิน เป็นเหตุให้ไม่ล่วงรู้สภาพการณ์ของฝ่ายตรงข้าม (จนต้องพ่ายแพ้แก่ข้าศึก) ถือว่าไร้เมตตาธรรมอย่างยิ่ง (ต่อประชาชนของตน) เมื่อถึงภาวะสุดวิสัยจะต้องทำสงคราม ก็ต้องเผด็จศึกโดยเร็วที่สุด

จอมทัพจะใช้ไม่ได้ ถ้าไม่คำนึงถึงความสูญเสียมหาศาลจากการทำศึกที่ ยืดเยื้อยาวนาน เป้าหมายการรบคือ เพื่อสันติภาพไม่ใช่ทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามให้สิ้นซาก เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายต่างบาดเจ็บล้มตามและเสียหายจากการรบ ฝ่ายที่เสียเปรียบจะรีบยอมแพ้และขอยุติสงคราม ถ้าฝ่ายชนะเปิดโอกาสให้ นี่คือ ปรัชญาแห่งการทำศึกของซุนวู น่าเสียดายที่บางประเทศเรียนรู้ไม่ลึกซึ้ง จึงนำประชาชนไปสู่ความหายนะ ประเทศที่พูดถึงนี้ก็คือ ประเทศญี่ปุ่น!

ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้ประโยชน์จากสงครามไปมากมายแล้ว แต่ยังทำศึกยืดเยื้อไม่ยอมหยุด หวังจะทำลายจีนทั้งประเทศแล้วยึดครอง ผลักดันให้ผู้แพ้ต้องสู้อย่างยอมตาย สุดท้าย ผู้แพ้ก็คือ ญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นขาดเมตตาธรรมตามหลักของซุนวู แม้ว่าแม่ทัพนายกองของญี่ปุ่นจะอ่านคัมภีร์พิชัยสงครามซุนวู แต่อาจจะอ่านไม่ทะลุปรุโปร่ง จึงเรียนรู้แต่เปลือกนอกที่ว่าด้วยเทคนิคการรบ ทว่าไม่ได้เข้าถึงจิตวิญญาณที่ซ่อนอยู่ จึงมุ่งมั่นแต่เพียง “รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” โดยหลงลืมไปว่า “ชนะโดยไม่ต้องรบ คือ ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด”!










บทความนี้มาจาก สมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย
http://www.thaigo.org

URL สำหรับเรื่องนี้คือ:
http://www.thaigo.org/modules.php?name=News&file=article&sid=13

Comments

Popular posts from this blog

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับธุรกิจ

ความสำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์ม�