- :: อ่าน - การอ่านหนังสือ



เรื่องเล่าจากฮาร์วาร์ด โดย คมกริช วัฒนเสถียร นักกฎหมายอาวุโส pvatana@hotmail.com Matichon คราวที่แล้วผมนำเสนอการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก 20 อันดับมาฝากกัน จากสถิติดังกล่าวมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้รับการยอมรับจัดอยู่ในอันดับหนึ่งสองปีซ้อน(2004-2005) และแน่นอนว่าชื่อเสียงที่ขจรขจายไปไกลนั้นเกิดจาก "คุณภาพและมาตรฐานการศึกษา" อย่างแท้จริง สะท้อนจากคุณภาพของคณาจารย์ผู้สอน นักศึกษาทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ตำราเรียน การวิจัย ห้องสมุด และสิ่งอำนวยความสะดวก อุปกรณ์การเรียน บรรยากาศต่างๆ ที่เอื้อต่อการศึกษาเป็นอย่างมาก บางท่านอาจคิดในใจว่าเป็นเพราะเขามีเงินทุนมากเขาจึงสามารถทำได้ คำกล่าวนั้นส่วนหนึ่งคงถูกต้องแต่ไม่ทั้งหมดครับ เพราะบางมหาวิทยาลัย หรือบางประเทศใช้เงินในการศึกษาไปก็ไม่น้อย แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นต้องนับว่าถอยหลังเข้าคลอง เพราะมัวแต่ไปคิดเรื่องสร้างสิ่งก่อสร้าง ไม่ใช่สร้างคน การมีเงินเป็นเรื่องดี แต่ถ้าใช้เงินไม่เป็น ไม่ถูกทาง ย่อมสร้างสิ่งที่เสียหายมากกว่าสิ่งที่สร้างสรรค์ได้ วันนี้ผมจะขอนำเสนอเรื่องที่ดูเหมือนง่าย แต่ทำยากและดูจะเป็นไม้เบื่อไม้เมาของนักศึกษากฎหมายทีเดียว นั่นก็คือ "การอ่านหนังสือ" นักศึกษากฎหมายจะต้องมีศิลปะในการอ่านหนังสือซึ่งเป็นภาษากฎหมายที่มีถ้อยคำสำนวนแตกต่างจากภาษาธรรมดา ทั้งนี้ การอ่านต้องอ่านเพื่อทำความเข้าใจภาษา(Language) หรือถ้อยคำ(Word, Wording) ในการศึกษากฎหมายต่างประเทศบางแห่ง อาจารย์จะกำหนดให้นักศึกษาต้องอ่านหนังสือมาล่วงหน้าก่อนเข้าเรียนแต่ละชั่วโมงประมาณ 15-20 หน้า หรือมากน้อยแล้วแต่สมควร เรียกว่า Assignment แต่การศึกษาในประเทศไทยมักไม่ค่อยกำหนดเป็นกิจจะลักษณะ แต่สำหรับการเรียนในสหรัฐอเมริกาแทบทุกแห่งเหมือนกันคือต้องอ่านกันมาก่อนแบบตะลุยอ่านกันเลยทีเดียว การอ่านหนังสือล่วงหน้ามาก่อนจะทำให้นักศึกษามีความรู้พื้นฐานในวิชาที่จะศึกษา เมื่อเข้าฟังอาจารย์บรรยายจะทำให้เข้าใจดียิ่งขึ้นและสามารถจำได้ดีอีกด้วย การอ่านหนังสือควรปฏิบัติให้เป็นนิสัย นิสัยชอบอ่านหนังสือนี้ระยะแรกอาจเหมือนยาขม ปฏิบัติได้ยาก เป็นการทรมานจิตใจอย่างมากแต่จะต้องเข้าใจว่าเราเพิ่งเริ่มต้นศึกษากฎหมาย ไม่ควรท้อแท้ ในสมัยที่ผมเริ่มศึกษากฎหมายเมื่อ พ.ศ.2493 ท่านอาจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ผู้บรรยายวิชากฎหมายอาญาเบื้องต้น เคยแนะนำให้อ่านหนังสือจนติดเป็นนิสัย ท่านบอกว่า "นักกฎหมายที่ดีต้องอ่านออก เขียนได้" บอกตามตรงครับตอนแรกๆ ฟังแล้วก็ยิ้มๆ แถมยังหัวเราะอีกว่า ฟังดูง่ายมาก ใครๆ เขาก็อ่านออก เขียนได้กันทั้งนั้น ผมและเพื่อนๆ รู้สึกอัศจรรย์ใจว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร การอ่านตำรากฎหมายรู้สึกแห้งแล้งเหลือเกิน อ่านไม่ถึงชั่วโมงก็ง่วงนอนเสียแล้วเลิกอ่านแล้วสบายใจ คิดเรื่องอื่นดีกว่า แต่ผลจากคำกล่าวของท่านอาจารย์เมื่อผม(และผมเชื่อว่าน่าจะเป็นนิสัยพื้นฐานของนักกฎหมายทุกคน) ได้อ่านหนังสือตำรับตำรากฎหมาย คำพิพากษาฎีกา ฯลฯ แล้วย่อมจะเกิดความรู้สึกสนุกสนาน คิดหาคำตอบ ใช้จินตนาการไปกับการอ่านได้ก็จะทำให้การเรียนกฎหมายส่วนหนึ่งประสบความสำเร็จ เมื่อลูกสาวผมสอบเข้าเรียนต่อกฎหมายได้ ผมก็นำคำของท่านอาจารย์พูดให้ลูกสาวฟังว่าการเรียนกฎหมายต้องอ่านให้มากอีกทั้งยกคำกล่าวของดร.หยุดมาผสมด้วย ตอนแรกๆ ลูกสาวผมฟังแล้วก็หัวเราะเอิ๊กอ๊าก ตอนนี้เราพ่อลูกนำเรื่องนี้มาคุยกันทีไรก็ยิ้มและยอมรับว่าเป็นความจริง นิสัยรักการอ่านนั้นปลูกฝังได้ สมัยที่ผมเรียนที่ฮาร์วาร์ดการเข้าห้องสมุดเปรียบได้ดั่งลมหายใจเลยทีเดียว นี่กระมังที่ทำให้ผมกลายเป็นคนที่ต้องอ่านหนังสือทุกวันจนอายุย่าง 74 ปี แล้วก็ยังคงอ่านอยู่ คงจะอ่านไปจนกว่าจะหมดลมหายใจครับ

Comments

Popular posts from this blog

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับธุรกิจ

การเดินทางของวิชาเศรษฐศาสตร์

ความสำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์ม�