ทักษะการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ
การเรียนวิชาภาษาอังกฤษซึ่งเป็นวิชาทักษะนั้น นักศึกษาต้องใช้ความมานะพยายาม และความอดทน หลักการศึกษาวิชาภาษาอังกฤษให้ได้ผลนั้นไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เพราะความสำเร็จในการเรียนวิชาภาษา ซึ่งเป็นวิชาทักษะนั้น อาศัยทั้งความเข้าใจและการฝึกฝนทบทวนบ่อย ๆ อยากทราบว่าตนเองยังมีพื้นฐานภาษาอังกฤษค่อนข้างน้อย ก็ควรที่จะเพิ่มพูนทักษะการใช้ภาษาอังกฤษให้มากขึ้น
ฟังพูดอ่านเขียน
ทักษะการฟัง มีพฤติกรรมการฟังอยู่ 5 ระดับ คือ
ขั้นรับรู้ฝึกสังเกตความแตกต่างของภาษาเกี่ยวกับเสียง คำ การเน้น และระดับเสียงขึ้น-ลงของข้อความ
ขั้นระลึกสามารถที่จะเข้าใจความหมายของข้อความสั้น ๆ ที่ได้ยิน
ขั้นรับความคิด สามารถที่จะเข้าใจสัญลักษณ์ทางไวยากรณ์ คำศัพท์ ประโยคและบทความสั้น ๆ
ขั้นเข้าใจ สามารถเข้าใจคำอธิบาย รู้จักจับความของข้อความที่ได้ยิน แม้ว่าจะมีคำที่ไม่รู้ความหมายอยู่ด้วยก็ตามสามารถฟัง และเข้าใจข้อความที่ผู้พูดพูดออกมาอย่างรวดเร็วได้
ขั้นวิเคราะห์ สามารถแยกแยะได้ว่าข้อความที่ได้ยินว่า เป็นภาษามาตรฐานหรือไม่ รูปประโยคถูกต้องหรือไม่ เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก และความมุ่งหมายของผู้พูดจากน้ำเสียง และถ้อยคำที่เน้น สามารถประเมินได้ว่าถ้อยคำที่เน้นนั้นสื่อสารความคิดได้อย่างเหมาะสมหรือไม่
ในปัจจุบัน มีสื่อต่าง ๆ ที่ช่วยนักศึกษาพัฒนาทักษะการฟังอยู่มากมาย เช่น รายการโทรทัศน์ประเภทสารคดีภาษาอังกฤษ จะมีบทสัมภาษณ์บุคคลต่าง ๆ บางรายการอาจมีคำแปลภาษาไทยกำกับด้วย รายการวิทยุภาคภาษาอังกฤษ ภาพยนตร์ หรือเพลง ก็ช่วยได้มาก ถ้านักศึกษาให้ความสนใจและใส่ใจอย่างจริงจัง
ทักษะการพูด
เป็นพฤติกรรมทางด้านการแสดงออก เนื่องจากคนไทยมิใช่ชนชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน ทักษะการพูดภาษาอังกฤษจึงอาจเป็นทักษะที่ดูเหมือนค่อนข้างจะยาก ในด้านของการออกเสียงหรือสำเนียงให้ถูกต้อง แต่หากผู้เรียนมีความพากเพียรพยายามหมั่นฝึกฝนบ่อย ๆ ก็อาจสามารถทำได้ดีเช่นเดียวกัน แต่ถึงแม้ว่าจะออกเสียงผิดเพี้ยนไปบ้าง ผู้เรียนก็ควรให้ความสำคัญต่อการพยายามสื่อสารให้ได้ความหมายมากที่สุด องค์ประกอบสำคัญ นอกจากเสียงหรือสำเนียงแล้ว ได้แก่ ศัพท์ ไวยากรณ์ ระเบียบวิธีของความสัมพันธ์ระหว่างประโยค ตลอดจนการใช้กริยา ท่าทาง ประกอบในการสื่อสาร
นักศึกษาสามารถที่จะทดลองฝึกพูดตามเทปเสียง ประจำชุดวิชา หรือทดลองอ่านข่าวในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ และให้ผู้ใกล้ชิดที่มีความรู้ภาษาอังกฤษดีพอสมควร ฟัง และวิจารณ์ปัญหาสำคัญโดยทั่วไปของคนไทยที่ด้อยทักษะทางการพูดมักเนื่องมาจากการขาดโอกาสที่จะพูดภาษาอังกฤษทั้งสิ้น
ทักษะการอ่าน ในเอกสารการสอนของนักศึกษา จะให้แนวทางของการเพิ่มประสิทธิภาพในการอ่านไว้ค่อนข้างมาก จึงขอเน้นในประเด็นต่อไปนี้
ประสิทธิภาพในการอ่านจะดีขึ้นเมื่อ
มีความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์มากขึ้น มีความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้คำ มีความชำนาญในการใช้คำต่าง ๆ เช่น คำนาม กริยาเปลี่ยนรูป วิเศษณ์ บุพบท ฯลฯ
มีความเข้าใจโครงสร้างพื้นฐานของประโยค และไวยากรณ์ อย่างถูกต้อง
มีความเข้าใจเรื่องราวที่อ่านอย่างชัดเจน สามารถเข้าใจโครงสร้างของบทความ รู้ตำแหน่งสำคัญของประโยคต่าง ๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นเรื่องราว ซึ่งได้มาจากการเข้าใจความหมายตามตัวอักษร และความสามารถที่จะติดตามเรื่องที่อ่านอย่างมีลำดับ สามารถที่จะเข้าใจความหมายที่แฝงอยู่ของข้อความที่อ่าน
ทักษะการอ่านนี้คงต้องเริ่มจากการอ่านหนังสือที่มีรูปประโยคง่าย ๆ และศัพท์ ง่าย ๆ ก่อน เมื่อเข้าใจดีขึ้นก็เพิ่มความยากของศัพท์ให้มากขึ้น และประโยคที่มีโครงสร้างซับซ้อนขึ้น หากนักศึกษาไม่แน่ใจในทักษะภาษาอังกฤษของตนเอง นักศึกษาอาจนำหนังสือประกอบการเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษามาทดสอบการอ่านดู หากสามารถอ่านผ่านมาได้ ตอบคำถามต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง ทักษะพื้นฐานของนักศึกษาก็ควรจะอยู่ในระดับที่สามารถจะศึกษาชุดวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐานได้ เพราะชุดวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐานเป็นชุดวิชาภาษาอังกฤษระดับอุดมศึกษา ที่มีเนื้อหาในลำดับที่สูงขึ้นจากภาษาอังกฤษระดับมัธยมศึกษานั้นเอง
ทักษะการเขียน
ทักษะการเขียน เป็นทักษะที่ต้องผ่านกระบวนการทางความคิดหลายขั้นตอน ตั้งแต่การรวบรวมความคิด การลำดับเรื่อง และเลือกสรรถ้อยคำในการถ่ายทอดออกมาเป็นข้อความที่สามารถสื่อความหมายได้ตรงความต้องการ
ทักษะการเขียนจะต้องอาศัยความเข้าใจโครงสร้างภาษาอย่างถูกต้อง รู้ศัพท์ สำนวน รูปแบบ ประโยค ไวยากรณ์ และเช่นเดียวกับทักษะอื่น ๆ ผู้เรียนจะต้องหมั่นฝึกฝนและหัดเขียนอยู่เสมอ นอกจากนั้นการเขียนและการอ่านเป็นทักษะที่เชื่อมโยงกัน หากผู้เรียนมีประสบการณ์ในการอ่านมาก ก็จะได้เห็นรูปแบบวิธีเขียน แนวคิดในการสื่อสารของผู้เขียน ซึ่งจะช่วยทำให้มีแบบอย่างสำหรับการเขียน สำหรับตนเองมากขึ้นด้วย
สำหรับนักศึกษานั้นควรจะหาโอกาสไปเข้ารับการสอนเสริม เพื่อที่จะมีโอกาสได้สนทนา ซักถามอาจารย์ผู้สอนโดยตรง อย่างไรก็ตามการศึกษาด้วยตนเองโดยไม่มีชั้นเรียนปกตินั้น นักศึกษาต้องดูแลตนเองให้มีวินัยในการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนวิชาภาษานั้นจะต้องฝึกฝนเป็นประจำ สม่ำเสมอ หากไม่ท้อถอยในการเรียนเสียก่อน ความสำเร็จในการศึกษาต้องเป็นของนักศึกษาอย่างแน่นอน
ดูแลตนเองให้มีวินัยในการศึกษา ฝึกฝนเป็นประจำ สม่ำเสมอ ความสำเร็จในการศึกษาต้องเป็นของนักศึกษาอย่างแน่นอน
แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมฝ่ายแนะแนวการศึกษา สำนักบริการการศึกษา มสธ.

Comments

Popular posts from this blog

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับธุรกิจ

ความสำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์ม�