ภูมิปัญญาหมากล้อมกับ วิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (1)
โดย สุวินัย ภรณวลัย
12 กรกฎาคม 2548 17:45 น.
www.suvinai-dragon.com หมากล้อม นอกจากจะเป็น เกมกระดาน ที่เก่าแก่หลายพันปี ที่น่าทึ่งมีมนต์ขลัง มีความลุ่มลึก และสนุกที่สุดในโลกเกมหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ทุกเพศทุกวัยไม่ว่าเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ และผู้สูงวัยควรจะตื่นตัวหันมาให้ความสนใจศึกษาให้มากเพื่อการพัฒนาสติปัญญาแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง หมากล้อมยังเป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์แทนความฉลาด ความมีปัญญาหลักแหลม ลึกซึ้งอีกด้วย เพราะเกมหมากล้อมได้รับการยอมรับมานับพันปีในแผ่นดินจีน โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นปกครองนักการทหาร และเหล่าปราชญ์บัณฑิตว่า เป็นเกมที่ต้องใช้กลยุทธ์ ใช้เล่ห์กล ใช้ปฏิภาณ ใช้จินตนาการ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ใช้กำลังสมาธิ และกำลังสติของผู้เล่นเป็นอย่างมากในการเอาชนะกัน เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เสน่ห์ของเกมหมากล้อมนี้มีมนต์ขลัง ขนาดดึงดูดคนฉลาด คนหัวดีที่สามารถจะเรียนอะไร จะเป็นอะไรก็ได้ในโลกนี้ ให้มาทุ่มเทชีวิตจิตใจทั้งชีวิตให้กับมันแบบมืออาชีพได้ เพราะเกมหมากล้อมเป็น เกมอัจฉริยะของเหล่าอัจฉริยะ (the game of geniuses) โดยแท้ สำหรับผู้ที่หลงใหลภูมิปัญญาตะวันออก การได้เรียนรู้หมากล้อมเป็นความสุข และเป็นปีติอันล้ำลึกอย่างหนึ่งในชีวิตเหมือนกับการได้เรียนพิณจีนกู่เจิง และมวยไท้เก๊ก เกมหมากล้อมมีคุณสมบัติที่น่าทึ่งถึงเพียงนี้ แต่ก็ยังมีมุมมองให้วิจารณ์จนได้ว่า คนฉลาด อาจเห็นหมากล้อมเป็นเครื่องวัดความฉลาด คือยิ่งเอาชนะคนอื่นในเกมได้มาก ก็แสดงว่ายิ่งเป็นคนฉลาดมาก แต่ คนมีปัญญา (ทางธรรม) อย่าง ดังตฤณ นักเขียนนิยายแนวธรรมะร่วมสมัยชื่อดังแห่งยุค ผู้เขียน "กรรมพยากรณ์", "ทางนฤพาน", "เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน" "7 เดือนบรรลุธรรม" และ "มหาสติปัฏฐานสูตร" ที่ขายดีก็ได้ วิจารณ์เกมกระดานอย่างหมากล้อม และหมากรุกฝรั่งไว้อย่างแหลมคมว่า การหมกมุ่นครุ่นคิดอยู่กับหมากรุก (และหมากล้อม) ทั้งวันทั้งคืนตลอดชีวิตนั้น จัดเป็นการถูกหลอกให้เอาความฉลาดไปหมกมุ่นและ จมปลักอย่างโง่เขลา เสียมากกว่า แทนที่จะเอาความฉลาดมาพัฒนาโลกให้ดีขึ้น เพราะความจริงก็คือ นักหมากรุก (นักหมากล้อม) บางคนฉลาด ขนาดเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น ตั้งแต่วิศวกรขององค์การนาซา ตลอดไปจนกระทั่งแพทย์ในทีมวิจัยพัฒนารักษาโรคเอดส์" (จาก "เสียดาย...คนตายไม่ได้อ่าน", สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี, 2547, หน้า 109 ข้อความในวงเล็บเป็นของผู้อ้าง) สิ่งที่ดังตฤณกล่าวมีความจริงอยู่ไม่น้อย เพราะในญี่ปุ่นเองก็มีนักหมากล้อมอาชีพที่เรียนเก่งขนาดเรียนหมอจนจบออกมาเป็นหมอแล้ว แต่ความความที่รักและหลงใหลในศิลปะแห่งหมากล้อม ที่ตัวเขาเล่นเก่งขนาดเคยเป็นตัวแทนประเทศญี่ปุ่นไปแข่งขันระดับโลกในหมู่มือสมัครเล่น และเคยชนะมืออาชีพทั้งๆ ที่ยังเป็นแค่มือสมัครเล่นอยู่ จึงทำให้ในที่สุดเขาตัดสินใจทิ้งอาชีพหมอและหันมาเป็นนักหมากล้อมมืออาชีพอย่างเต็มตัว เพราะนี่คือสิ่งที่เขารัก! นี่คือสิ่งที่เป็นวิถีชีวิตของเขา! คนเราถ้าเลือกทำในสิ่งที่ตนเองรัก อย่่างทุ่มเทชีวิตจิตใจให้ ต่อให้ในสายตาของผู้อื่นจะเห็นว่าเป็นการ หมกมุ่นและจมปลักอย่างโง่เขลา" ก็ตามแต่เขาก็มิได้พะวง ยังคงมุ่งพัฒนาทักษะฝีมือในศิลปะของตน จนกระทั่งมันกลายเป็น ทาง สายหนึ่ง อย่างนี้ไม่ดีกว่าการทำอาชีพอื่นที่คนอื่นเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์กว่า แต่ตัวเองไม่ได้รัก ไม่ได้ทุ่มเทจิตใจให้ดอกหรือ? ดังตฤณวิจารณ์ใน เชิงอรรถประโยชน์นิยม (utilitarianism) และ เชิงสังคม ซึ่งก็มีความจริงอยู่ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ทั้งหมด เพราะ คุณค่าของศิลปะอย่างหมากล้อม และหมากรุกนั้น มันเป็นคุณค่าเชิงวัฒนธรรม มันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมล้วนๆ ซึ่งไม่ควรถูกประเมินจากบรรทัดฐานของอรรถประโยชน์นิยม แต่ควรถูกประเมินจากบรรทัดฐานของตัวคุณค่าทางวัฒนธรรมของตัวศิลปะนั้นเองถึงจะถูกต้อง เพราะถ้าหาก หมากล้อมในฐานะที่เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง มันได้รับการส่งเสริมพัฒนาโดยเหล่านักหมากล้อมอาชีพผู้มีอัจฉริยภาพ ช่วยยกระดับองค์ความรู้ของวิชาหมากล้อม และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนคนรุ่นหลังจำนวนมากในการเพิ่มพูนสติปัญญาผ่านหมากล้อมแล้ว คุณูปการที่นักหมากล้อมอาชีพผู้นั้น ที่ผันตัวเองมาจากการเป็นหมอที่มีต่อสังคม ก็คงหาได้ด้อยกว่าการที่คนผู้นั้นยังคงเป็นหมอที่มีศักยภาพปานกลางแต่อย่างใดเลย บางทีอาจมีคุณูปการมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะสังคมแค่สูญเสียหมอระดับปานกลางไปคนหนึ่ง แต่ได้นักหมากล้อมระดับอัจฉริยะคนหนึ่งทดแทนซึ่งหาได้ไม่ง่ายด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ คุณค่าบางอย่างนั้น บางทีมันก็ไม่ได้อยู่ที่ เราทำอะไร (doing) แต่มันอยู่ที่เราเป็นใคร เป็นอะไร (being) ต่างหาก อย่างผู้เขียนเอง ถ้าให้เลือกได้ระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรีผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ และมีเงินล้นฟ้ากับการเป็นคนซื่ออย่าง ฟอร์เรสท์กัมพ์ ผู้เขียนก็คงยินดีเลือกที่จะเป็นแบบหลังมากกว่า แม้ว่าถ้ามองจากมุมมองแบบอรรถประโยชน์นิยม แล้วการเลือกแบบนี้จะเป็นการเลือกที่ "โง่เขลา" ก็ตาม เพราะระดับความสะอาดบริสุทธิ์ข้างในจิตใจ มิใช่สิ่งที่จะเป็นกันได้ง่ายๆ ต่อให้คนผู้นั้นมี "ภายนอก" อย่างสมบูรณ์พร้อมแล้วก็ตาม ถึงแม้หมากล้อมจะเป็นสัญลักษณ์ของความฉลาดก็จริง แต่ก็ยังคงเป็น ความฉลาดที่แฝงโทษ ของตัวเองเอาไว้อยู่ดี ตราบใดที่การฝึกฝนเพื่อเพิ่มพูน ความฉลาดเชิงกลยุทธ์ โดยผ่านการฝึกหมากล้อมนี้ยังไม่ได้ บูรณาการเข้ากับการปฏิบัติธรรมแบบเซน (หรือแบบสติปัฏฐาน) ซึ่งเป็น สัญลักษณ์ของความมีปัญญาทางธรรม ไม่เพียงแต่หมากล้อมเท่านั้น วิทยาศาสตร์ธรรมศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งเป็น สัญลักษณ์ของความก้าวหน้าล้ำยุค ก็เป็นความฉลาดที่แฝงโทษในระดับหายนะ ถ้าหากไม่สามารถบูรณาการความรู้แบบนี้เข้ากับการยกระดับจิตสำนึก จิตวิญญาณโดยผ่านการปฏิบัติธรรมรูปแบบต่างๆ ดังนั้น การบูรณาการภูมิปัญญาหรือศาสตร์แขนงต่างๆ ในระดับต่างๆ จึงมีความสำคัญยิ่งในเชิงญาณวิทยา ซึ่งในยุคนี้จำเป็นจะต้องเป็น "พหุนิยมทางญาณวิทยา" (Epistemological Pluralism) ซึ่งนำเสนอว่า องค์ความรู้แบบองค์รวมของมวลมนุษยชาตินั้น สามารถจำแนกได้ตามระดับของ "วิถีแห่งการรับรู้" (mode of knowing) ซึ่งจัดแบ่งได้เป็น 3 ระดับด้วยกันคือ (1) การรับรู้ในระดับ "ตาเนื้อ" (the eye of flesh) (2) การรับรู้ในระดับ "ตาใจ" (the eye of mind) (3) การรับรู้ในระดับ "ตาปัญญา" (ปัญญาจักษุ) (the eye of spirit) (ดู แผนภาพ ประกอบ)

โดยที่ วิถีแห่งการรับรู้ แต่ละระดับก็จะสามารถรับรู้ถึงขอบเขตทางภววิทยา (Ontological realms) ที่แตกต่างกัน กล่าวคือ (ก) ขอบเขตความรับรู้ในระดับประสาทสัมผัส (Sensibilia) (ข) ขอบเขตความรับรู้ในระดับความคิด (Intelligibilia)และ (ค) ขอบเขตความรับรู้ในระดับเหนือโลก จะเห็นได้ว่า การรับรู้ด้วยประสาทสัมผัส โดยตรง เช่น ตาดูหูฟัง กายสัมผัสคือ ความรู้จากโหมดที่ 5 ใน แผนภาพ แต่ถ้าเอาประสาทสัมผัสทั้งห้า หรือเครื่องขยายประสาทสัมผัสทั้งห้า เช่น กล้องจุลทรรศน์ กล้องดูดาว เป็นต้น ไปรับรู้ศึกษาสิ่งต่างๆ ที่เข้าถึงได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า แล้วประมวลขึ้นมาเป็น "ความรู้" อย่าง วิทยาศาสตร์ทางเดียว (monological science) เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เป็นต้น ก็จะกลายเป็น ความรู้จากโหมดที่ 4 เพราะต้องใช้ "ตาใจ" ไปประมวลความรู้จากสิ่งที่รับรู้ด้วย "ตาเนื้อ" ส่วน ความรู้จากโหมดที่ 3 เป็น วิทยาศาสตร์สองทาง (dialogical science) ที่สร้างองค์ความรู้ขึ้นมาจากความคิด และการเสวนา (dialogue) จะเป็นการเสวนากันโดยตรง หรือการเสวนาผ่านความคิดในหนังสือก็ได้ มีการใช้สื่อที่เป็นสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น ภาษา สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ การตีความ เพื่อเข้าถึงองค์ความรู้ที่เป็นความจริงทางนามธรรมชนิดหนึ่ง ความรู้จากโหมดที่ 3 นี้จึงเป็นความรู้ที่ได้จาก "ตาใจ" ล้วนๆ ไปศึกษาสิ่งที่เป็นนามธรรม เป็นสัญลักษณ์อีกทีหนึ่ง ตัวอย่างองค์ความรู้ในระดับนี้ได้แก่ ภาษาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ปรัชญา จิตวิทยา ศิลปะต่างๆ หมากล้อมและหมากรุก ก็เป็นความรู้ในระดับโหมดที่ 3 นี้ เช่นเดียวกับวิชาเศรษฐศาสตร์ วิชาการบริหารและการจัดการ ส่วน ความรู้จากโหมดที่ 2 เป็นศาสตร์เพื่อการรู้แจ้งหรือเพื่อการหลุดพ้น อันเป็น องค์ความรู้ที่ใช้ "ตาใจ" ไปศึกษาในเรื่องที่เกี่ยวกับจิตวิญญาณ และเป็นเรื่องเหนือโลกหรือโลกุตรธรรม ตัวอย่างองค์ความรู้จากโหมดที่ 2 นี้ได้แก่ พระไตรปิฎก งานเขียนเรื่อง "พุทธธรรม" ของพระธรรมปิฎก งานเขียนเรื่อง "สติปัฏฐานสูตร" ของดังตฤณ และงานเขียนส่วนใหญ่ของท่านพุทธทาสภิกขุ รวมทั้งความรู้เชิงเทววิทยาของศาสนาต่างๆ ส่วน ความรู้จากโหมดที่ 1 เป็นประสบการณ์โดยตรงในระดับจิตวิญญาณ ซึ่งไม่ใช่ระดับประสาทสัมผัสอย่างโหมดที่ 5 อันเป็นขอบเขตความรับรู้ในระดับเหนือโลกที่ ได้มาจากการลงมือปฏิบัติภาวนาด้วยตนเองของผู้นั้น จนมี "ตาปัญญา" หรือ "ปัญญาจักษุ" เกิดขึ้น มันจึงไม่ใช่ความรู้ของ "ตาใจ" ที่เป็น โหมดที่ 2 แต่เป็นความรู้ที่เป็นประสบการณ์จริงของผู้นั้น ที่รู้ได้เฉพาะตนเท่านั้น จึงเป็น โหมดที่1 ถ้าเราเข้าใจองค์ความรู้อย่างเป็นองค์รวมของมวลมนุษยชาติทั้งหมดในเชิงพหุนิยมทางญาณวิทยาดังข้างต้น เราก็ย่อมสามารถบูรณาการหมากล้อม (ความรู้จากโหมดที่ 3) เข้ากับการศึกษาธรรมะ (ความรู้จากโหมดที่ 2) และการเจริญภาวนาปฏิบัติธรรม (ความรู้จากโหมดที่ 1) ได้ แล้วจะเห็นได้เองว่า ความรู้ในระดับต่างๆ ในโหมดต่างๆ มีความจำเป็นและมีความสำคัญในตัวของตัวมันเอง โดยไม่จำเป็นต้องปฏิเสธความรู้ประเภทใดๆ ทั้งสิ้น มันขึ้นอยู่กับว่า เราจะเลือกบูรณาการ ความรู้ในระดับต่่างๆ ในทุกโหมดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราอย่างกลมกลืน และมีความหมายในเชิงวิวัฒนาการของจักรวาฬ (Kosmos) ทั้งในระดับปัจเจกและในระดับรวมหมู่ได้อย่างไรต่างหาก ถ้าทำได้อย่างนี้แล้ว การมีความฉลาดกับการมีปัญญาทางธรรม ก็เป็นสิ่งที่ไปด้วยกันได้ และสมควรจะไปด้วยกันด้วยอย่างยิ่ง การศึกษาฝึกฝนหมากล้อม จึงควรดำเนินไปใน วิถีแห่งบูรณาการ ดังข้่างต้นนี้ เพื่อให้เกิดความฉลาดและปัญญาสูงสุดโดยไม่แฝงโทษเอาไว้เลย (ยังมีต่อ)
ภูมิปัญญาหมากล้อมกับวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (2)
โดย สุวินัย ภรณวลัย
20 กรกฎาคม 2548 09:22 น.
www.suvinai-dragon.com หมากล้อมเป็นเกมแห่งการประชันปัญญาและกลยุทธ์ระหว่างผู้เล่น มันเป็นเกมที่มาจากการเคลื่อนไหวของเม็ดหมาก และโอกาสที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ในสายตาของผู้ที่สามารถดื่มด่ำกับความลึกล้ำของมันได้ เกมหมากล้อมที่เล่นกันระหว่างผู้ที่มีฝีมือในระดับสูง แทบไม่ต่างจากงานศิลปะที่ผู้เล่นสองคนร่วมกันรังสรรค์สร้างขึ้นมาเลย น่าเสียดายที่ความงามของเกมหมากล้อมเป็น ความงามในเชิงคณิตศาสตร์ ซึ่งต้องฝึกฝนเสียก่อนถึงจะ "เห็น" ความงามแบบนี้ได้ กล่าวในความหมายนี้ ความน่าทึ่งของเกมหมากล้อมจึงยังไม่เป็นที่รับรู้สำหรับคนทั่วไปเท่าไหร่นัก ทั้งๆ ที่คุณประโยชน์ของการฝึกฝนหมากล้อมเพื่อความสามารถในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์นั้นมีมากมายยิ่ง เรียกได้ว่า แก่นความคิดเชิงภูมิปัญญาของหมากล้อมนั้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเรื่องของธุรกิจ การเมือง สงคราม กีฬา ความสัมพันธ์ และการบริหารชีวิตโดยรวม เลยทีเดียว จักรพรรดิของจีนในยุคโบราณ ก็ใช้หมากล้อมนี้แหละสั่งสอนบุตรของตนให้รู้วิธีการปกครองจักรวรรดิของตน เหมาเจ๋อตงเองในการทำศึกเพื่อยึดอำนาจรัฐ ก็วางแผนผ่านการเล่นหมากล้อม หรือผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำระดับโลกอย่างโตโยต้าก็ใช้หมากล้อมเป็นเครื่องมือในการกระตุ้น หลักคิดเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจของพวกตน เหตุที่ เกมหมากล้อมมีประโยชน์ต่อการฝึกฝนกลยุทธ์มากมายขนาดนี้ ก็เพราะว่าการเล่นหมากล้อม ทำให้ผู้เล่นต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ดังต่อไปนี้เสมอ กล่าวคือ (1) เราจะใช้ทรัพยากรและเวลาที่มีอยู่จำกัดของเราไปบรรลุเป้าหมายของเราได้อย่างไร (2) เราจะบรรลุทั้งความยืดหยุ่น และความมีใจจดจ่อในการทำศึกไปพร้อมๆ กันได้อย่างไร (3) เราจะประเมินสถานการณ์แยกแยะผลได้ผลเสียของแนวทางต่างๆ ที่มีให้เลือกได้หลายทางได้อย่างไร (4) การริเริ่มในโครงการไหนที่ควรสานต่อ และโครงการไหนที่ควรหันกลับมาทบทวนว่าควรถอนออกหรือไม่ (5) เมื่อไหร่ถึงควรจะบุกลุยไปข้างหน้า และเมื่อไหร่ควรจะอดกลั้นรอคอยจังหวะโจมตี (6) เมื่อไหร่ควรเป็นฝ่ายนำเกม และเมื่อไหร่ควรแค่เกาะตามสถานการณ์ไปก่อน (7) เราจะรุกเข้าไปอย่างไรในสถานการณ์ที่ฝ่ายตรงข้ามมีอิทธิพลเข้มแข็ง (8) ถ้าคู่แข่งของเขาเป็นฝ่ายบุกรุกเข้ามาในเขตอิทธิพลของเรา ฝ่ายเราควรจะรับมืออย่างไรดี (9) ถ้าเรามีจุดแข็งในสินค้าบางตัว และก็มีจุดอ่อนในสินค้าอีกกลุ่มหนึ่ง เราจะจัดสรรทรัพยากรของเราอย่างไรดีให้เหมาะสม เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของกลุ่มธุรกิจของเราโดยรวม (10) เมื่อไหร่ที่เราควร "เสียสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต" และเมื่อไหร่ที่เราควรกล้าลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เพื่ออนาคต (11) เมื่อสถานการณ์ผันแปรไปอย่างรวดเร็ว เราจะมีแผนปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ที่เหมาะสมได้อย่างไร จะเห็นได้ว่า คำถามหลายคำถามข้างต้น ล้วนแล้วแต่เป็นคำถามที่พวกผู้นำทั้งหลายในวงการต่างๆ ล้วนแล้วแต่เคยเผชิญ กำลังเผชิญ และจะต้องเผชิญต่อไปทั้งสิ้น ซึ่งภูมิปัญญาจากเกมหมากล้อมสามารถให้แนวคิด และคำตอบในเชิงฐานคิดแบบกลยุทธ์แก่ผู้นั้นได้ อย่างน้อยก็ในเชิงอุปมาอุปไม ก่อนที่จะต้องตัดสินใจจริงๆ เพราะ การฝึกฝนกลยุทธ์จากการเข้าไปทำสงครามจริงๆ หรือเข้าไปลุยในโครงการธุรกิจจริงๆ เลยนั้น มันมี "ต้นทุน" ที่สูงมาก เพื่อที่จะได้เรียนรู้ "บทเรียนทางกลยุทธ์" บางอย่าง หรือแม้แต่การศึกษา "กรณีศึกษา" เพื่อฝึกฝนวิธีคิดเชิงกลยุทธ์จากโครงการ MBA ผู้ศึกษาอาจจะศึกษาได้ไม่กี่กรณีภายในเวลาสองปีที่เรียนในโครงการ ขณะที่ภายในเวลาสองปีเช่นกัน ผู้ฝึกฝนหมากล้อมอาจได้ฝึกฝนวิธีคิดเชิงกลยุทธ์หลายสิบครั้งในหนึ่งเกม และหลายพันครั้งจากหลายร้อยเกมภายในเวลาสองปีเลยทีเดียว จึงเห็นได้ว่า การฝึกฝนกลยุทธ์จากเกมหมากล้อมนั้น ใช้ต้นทุนที่ต่ำมากและมีความเสี่ยงน้อยกว่ามาก ก่อนที่จะเข้าสู่สนามรบจริงๆ ซึ่งผู้นั้นจะไม่มีโอกาส "แก้มือ" เท่าไหร่นัก ถ้าหากล้มเหลวหรือพ่ายแพ้ เกมหมากล้อมเป็นเกมที่ยอดเยี่ยมมากในการที่จะสอนเราว่า เราจะชนะได้อย่างไรในสถานการณ์ที่เราไม่มีความได้เปรียบใดๆ เลย นอกจากความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีกลยุทธ์เท่านั้น แล้วถ้าเปรียบกับ เกมหมากรุกฝรั่ง (chess) เล่า เกมหมากรุกฝรั่งสามารถทดแทนเกมหมากล้อมในการช่วยฝึกฝนเรื่องกลยุทธ์ให้แก่เราได้หรือไม่? เกมหมากรุกฝรั่ง ซึ่งเป็น เกมของเหล่าพระราชา (the game of kings) (ในขณะที่เกมหมากล้อมเป็น เกมของเหล่าอัจฉริยะ) ก็เป็นเกมที่ยอดเยี่ยมมากเช่นกันในการฝึกฝนกลยุทธ์ แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์เท่าเกมหมากล้อม ความแตกต่างระหว่างเกมหมากรุกฝรั่งกับเกมหมากล้อมนั้นมีดังต่อไปนี้ (1) หมากรุกฝรั่งมี 64 ตา และ 32 ตาถูกยึดครองด้วยหมากชนิดต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้นเกม ขณะที่หมากล้อมมีจุดตัด 361 จุด และเริ่มต้นจากกระดานที่ว่างเปล่า หมากต่างๆ ในหมากรุกฝรั่งมีความเคลื่อนไหวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกัน เช่น ม้า บิสชอป เรือ ควีน คิง เบี้ย ขณะที่เม็ดหมากของหมากล้อมแค่วางลงบนจุดตัดในกระดานที่จุดไหนก็ได้อย่างเสรี (ยกเว้นจุดที่ผิดกติกา) (2) หมากรุกฝรั่งเป็น เกมในเชิงยุทธวิธี (tactical game) ซึ่งพึ่งพาการวิเคราะห์ด้วย สมองซีกซ้าย เป็นหลัก ขณะที่หมากล้อมนอกจากจะใช้ยุทธวิธีเหมือนหมากรุกฝรั่งแล้ว ยังเน้นไปที่การใช้กลยุทธ์ (strategy) เป็นหลัก ซึ่งต้องพึ่ง ญาณทัสนะ (intuition) จาก สมองซีกขวา ของผู้เล่นเป็นสำคัญ ขณะที่เซียนหมากรุกฝรั่งระดับโลกกล้าที่จะฟันธงว่า หมากรุกฝรั่งเป็นเรื่องของยุทธวิธีถึง 99% แต่จะไม่มีเซียนหมากล้อม (โกะ) คนไหนที่กล้าฟันธงเช่นนั้นในเกมหมากล้อม (3) ความเป็นไปได้ของเกมหมากรุกฝรั่งจะอยู่ที่ 10120 (สิบยกกำลังหนึ่งร้อยยี่สิบ) ขณะที่ความเป็นไปได้ของเกมหมากล้อมจะอยู่ที่ 10170 (สิบยกกำลังหนึ่งร้อยเจ็ดสิบ) หรือมากกว่านั้น (4) หมากรุกฝรั่งมีสนามรบแค่สนามเดียว ซึ่งถ้าฝ่ายใดได้เปรียบในสนามนั้น อีกฝ่ายก็ยากจะพลิกสถานการณ์กลับมาได้ ขณะที่ หมากล้อมมีสนามรบได้มากกว่าห้าสนามของหมากรุกฝรั่ง และต่อให้เราพ่ายแพ้ในบางสนามรบ ก็ยังสามารถชนะสงครามทั้งกระดานได้ (5) ปัจจุบันโปรแกรมคอมพิวเตอร์หมากรุกฝรั่งที่ดีที่สุดสามารถเอาชนะแชมป์โลกหมากรุกฝรั่งได้แล้ว แต่โปรแกรมคอมพิวเตอร์หมากล้อมที่ดีที่สุด ยังแค่สามารถเอาชนะนักหมากล้อมมือสมัครเล่นในฝีมือระดับกลางๆ ได้เท่านั้น (6) มีเซียนหมากรุกฝรั่งระดับอาจารย์จำนวนไม่น้อยที่หันไปเล่นหมากล้อมแทน และกล้าประกาศว่า เกมหมากล้อมเป็นเกมที่เหนือกว่า แต่ยังไม่มีเซียนหมากล้อมระดับอาจารย์คนไหนที่หันไปเล่นหมากรุกฝรั่งแทน และกล้าประกาศว่า เกมหมากรุกฝรั่งเป็นเกมที่เหนือกว่า (7) ขณะที่เกมหมากรุกฝรั่งเป็นเรื่องของการกินกัน กำจัดกันจนไม่เหลือฝ่ายตรงข้ามคือขุนหรือคิง ส่วนเกมหมากล้อมโดยเฉพาะเกมที่แต่ละฝ่ายมีฝีมือทัดเทียมกันจะเป็นเรื่องของการแบ่งปัน ต่างฝ่ายต่างได้พื้นที่ไปครองกันมากกว่า โดยที่ผู้ชนะคือผู้ที่ได้เปรียบพื้นที่มากกว่านิดหน่อยเท่านั้น กล่าวโดยนัยนี้ เกมหมากล้อม จึงเป็นเกมที่สามารถสู้รบแบบอหิงสาได้ หรือแค่ป้องกันตัวเองเฉยๆ อย่างเดียว ก็ยังสามารถเป็นฝ่ายชนะได้ ซึ่งถ้าเป็นเกมหมากรุกฝรั่งจะไม่มีทางทำเช่นนั้นได้ แม้จะมีความแตกต่างกันมากขนาดนี้ แต่ทั้งเกมหมากรุกฝรั่งและเกมหมากล้อม ต่างก็เป็นเกมกระดานที่น่าทึ่ง น่าหลงใหลทั้งคู่ (ผู้เขียนเองก็ชื่นชอบทั้งหมากรุกฝรั่งและหมากล้อม) เพียงแต่หมากล้อมนั้นลุ่มลึกกว่า ซับซ้อนกว่า และน่าท้าทายกว่าในเชิงกลยุทธ์เท่านั้น ทรอย แอนเดอร์สัน ผู้เขียน "วิถีแห่งโกะ" (The Way of Go) (2004) อันโด่งดังได้กล่าวว่า วิถีแห่งโกะหรือวิถีแห่งหมากล้อม ก็เฉกเช่นวิถีอื่นๆ ในศาสตร์ตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นวิถีแห่งศิลปะการต่อสู้ หรือวิถีแห่งการชงชาคือ การเดินหน้าเพื่อเข้าถึงสัจธรรมของวิชานั้น ซึ่งสำหรับ วิถีแห่งหมากล้อมแล้วคือ การมุ่งเข้าถึง "หัตถ์เทวะ" หรือการวางหมากที่สมบูรณ์แบบดุจเทพเจ้าแห่งหมากล้อมเป็นผู้วางหมากด้วยตนเอง ในสถานการณ์นั้นๆ เซียนโกะ (Go master) ที่แท้จริงจะเดินอยู่บนวิถีแห่งหมากล้อมอย่างไม่มีวันหยุดยั้งเพื่อเข้าถึง หมากล้อมที่แท้จริง เหมือนอย่างที่มือกระบี่ที่แท้จริงย่อมเดินอยู่บนวิถีกระบี่เพื่อเข้าถึงความจริงของกระบี่อันเป็นกระบวนการแสวงหาที่ไม่มีวันสิ้นสุด เพื่อที่จะค้นพบว่า หมากล้อม หรือกระบี่มันเป็นยิ่งกว่าหมากล้อมหรือเป็นยิ่งกว่ากระบี่ แต่มันคือการเผยตัวออกมาของตัวธรรมจิต (Spirit) เอง และศิลปะทั้งหลายที่สะท้อน "ความจริง ความดี ความงาม" ของจักรวาฬ (Kosmos) จากแง่มุมมิติต่างๆ ที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาจากภูมิปัญญาของมนุษยชาติต่างก็เป็นการเผยตัวออกมาของตัวธรรมจิตนี้ทั้งสิ้น มูซาชิเอง หลังจากที่ได้ย่ำเดินอยู่บนวิถีแห่งดาบมาเกือบตลอดชีวิต เขาจึงสามารถเข้าถึงแก่นแท้ของศิลปะทั้งหลายทั้งปวงได้ จากหลักการ "ใช้หนึ่งไปเข้าถึงหมื่น" และจาก "หมื่นกลับคืนสู่ความว่าง" น่าเสียดายที่มูซาชิไม่มีโอกาสได้สัมผัสหมากล้อมหรือโกะอย่างลึกซึ้งในชั่วชีวิตของเขา หาไม่แล้วเขาจะต้องหลงใหลและทุ่มเทจิตใจให้กับ ศิลปะแห่งกลยุทธ์ นี้อย่างแน่นอน (ยังมีต่อ)

ภูมิปัญญาหมากล้อม กับวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (3)
โดย สุวินัย ภรณวลัย
26 กรกฎาคม 2548 17:51 น.
www.suvinai-dragon.com "การเล่นหมากล้อมบ่มเพาะนิสัยให้คนผู้นั้นกลายเป็นคนที่มีความจริงจัง มีไหวพริบปฏิภาณ และสร้างสมานสามัคคี จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่ นักรบญี่ปุ่น จะชื่นชอบการเล่นหมากล้อมเป็นชีวิตจิตใจ และถ่ายทอดมาสู่ชนรุ่นหลัง" ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ใน บทเสนอ ของผู้เขียนเกี่ยวกับการเดินวน วิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการในยุคโลกาภิวัตน์ เช่นปัจจุบันนี้นั้น นอกจากจะต้องศึกษา "ตำราพิชัยสงคราม" ของซุนหวู่, "คัมภีร์ห้าห่วง" ของมูซาชิ และ "คัมภีร์มวยไทเก๊ก" ของจางซันเฟิงแล้ว ยังควรที่จะต้องศึกษา "คัมภีร์หมากล้อม 13 บท" ของจางหนี่ ซึ่งเป็นคัมภีร์หมากล้อมโบราณในสมัยราชวงศ์ซ้องด้วย จึงขอนำใจความหลักๆ ของคัมภีร์หมากล้อม 13 บท มาถ่ายทอด ณ ที่นี้เพราะข้อเขียนชิ้นนี้เต็มไปด้วย แก่นแท้ของหลักกลยุทธ์ในภูมิปัญญาหมากล้อม ที่นักกลยุทธ์ทั้งหลายไม่ควรมองข้าม (คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ เป็นคนแรกที่ถ่ายทอด คัมภีร์หมากล้อม 13 บทนี้ ออกมาเป็นภาษาไทย) บทที่ 1 กระดานหมากล้อม ตัวเลข 1 ถือเป็นจุดกำเนิดของสรรพสิ่งต่างๆ บนพื้นโลก จุดตัดบนกระดานทั้ง 361 จุด เศษหนึ่งคือจุด เทียนหยวน (จุด เท็นเง็น ในภาษาญี่ปุ่น) ตรงกลางกระดาน เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของสรรพสิ่ง จากจุดนี้เมื่อขยายวงออกไปทางทิศทั้งสี่ ก็จะได้ผลรวมของพื้นที่เป็น 360 จุด ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนวันในหนึ่งปีตามปฏิทินจันทรคติ (360 วัน) และองศาของวงกลมซึ่งมี 360 องศา กระดานหมากล้อมแบ่งได้เป็น 4 มุม แต่ละด้านประกอบด้วยจุดทั้งหมด 90 จุด ถือเป็นสัญลักษณ์แทนฤดูกาลทั้งสี่ เม็ดหมากสีดำและสีขาวที่ใช้เล่นมีทั้งสิ้น 360 เม็ดในสัดส่วนที่เท่ากัน เปรียบเสมือน ธาตุหยิน และ ธาตุหยาง รูปทรงสี่เหลี่ยมของตัวกระดานเป็นตัวแทนของ ความสงบนิ่ง ขณะที่ความกลมของเม็ดหมากเป็นตัวแทนของ ความเคลื่อนไหว ดังนั้น กระดานหมากล้อมจึงเปรียบเสมือนจักรวาลเล็กๆ อันกว้างใหญ่ไพศาล โดยที่ผู้เล่นคือผู้ที่เสกสรรค์เรื่องราวต่างๆ ขึ้นมาโดยผ่านเม็ดหมากสีขาวและสีดำ บรรดาผู้รู้ทั้งหลายล้วนกล่าวว่า "ขอเพียงได้เจาะลึกและศึกษาหมากล้อมอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ผู้นั้นจะได้ค้นพบและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลาอย่างแน่นอน" บทที่ 2 ความสำคัญของการวางแผน ในการเล่นหมากล้อม ผู้เล่น ควรเริ่มเปิดเกมด้วยการวางหมากที่งาม พร้อม อาศัยกลยุทธ์อันแยบยลวางหมากอย่างแม่นยำควบคุมสถานการณ์ทั้งกระดาน ดังนั้น ผู้เล่นจึงควรวาดภาพแผนการเล่นไว้ในใจ และแสดงออกมาให้เห็นผ่านกลวิธีต่างๆ โดยยึดหลัก "แม้ยังไม่เปิดฉาบรบ แต่สามารถกำชัยชนะไว้ในมือ" การจะทำเช่นนั้นได้ต้องดำเนินกลยุทธ์การวางหมากที่ผ่านการไตร่ตรองมาอย่างรอบคอบแล้ว หากมีบ่อยครั้งที่แม้จะตั้งใจวางแผนมาเป็นอย่างดีแล้ว แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นไปดังคาด นั่นก็เป็นเพราะว่า ความมุ่งมั่น ของผู้นั้นยังไม่แรงกล้าพอ ผู้วางแผนอย่างละเอียดรัดกุมจะประสบชัยชนะ ผู้วางแผนโดยขาดความรอบคอบ ย่อมปราชัย นับประสาอะไรกับผู้ไม่เคยวางแผนล่วงหน้ามาก่อน บทที่ 3 ในช่วงต้นกระดาน เมื่อเริ่มเกมแข่งขัน ผู้เล่นควรพิเคราะห์ถึงผลได้ผลเสียที่จะตามมาทุกครั้ง ก่อนที่จะตัดสินใจวางหมากแต่ละหมากลงบนกระดาน โดยทั่วไปจะเริ่มวางหมากตรงบริเวณมุมทั้งสี่ของกระดาน ก่อนขยายไปสู่ด้านข้างและกลางกระดานตามลำดับ การขยายฐานหมากต้องเหมาะสม ไม่ควรปล่อยให้เม็ดหมากวางเรียงติดกันหรือทิ้งห่างจนเกินไปนัก อย่าลืมว่า การเริ่มต้นที่ดีถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว บทที่ 4 ช่วงสัประยุทธ์กลางกระดาน ผู้เล่นควรวางหมากด้วยความระมัดระวังทุกฝีก้าว และครุ่นคิดถึงกลวิธีที่จะนำมาใช้อย่างรอบคอบ การขับเคี่ยวทางสติปัญญาซึ่งเต็มไปด้วยความซับซ้อน และลึกซึ้งที่ต้องอาศัยการครุ่นคิดอย่างละเอียดรอบคอบในเกมหมากล้อมนั้น มักเป็นการต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงพื้นที่บริเวณกลางกระดาน ส่วนกลยุทธ์ที่ใช้วางหมากบริเวณข้างกระดาน จัดว่าไม่ยุ่งยากและซับซ้อนเท่าบริเวณกลางกระดาน ส่วนความยากของการวางหมากตรงมุมกระดานอยู่ในระดับปานกลาง นักหมากล้อมที่เก่งกาจจะถือคติว่า "ยอมเป็นฝ่ายถูกกิน ดีกว่าการพลาดโอกาสเป็น มือนำ" แม้ว่าในความเป็นจริงผู้เล่นจะผลัดกันวางหมากคนละตาเดินก็ตาม ในการโจมตีด้านซ้ายของกระดาน ก็พึงระมัดระวังด้านขวาของกระดานไปพร้อมๆ กันด้วย การเลือกโจมตีจึงควรคำนึงถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นทั้งกระดานให้ดีเสียก่อน เมื่อกลุ่มหมากของฝ่ายตรงข้ามล้วนเป็นหมากรอด อย่าสิ้นเปลืองเม็ดหมากไปกับการวางหมากตัดฝ่ายตรงข้าม กรณีที่กลุ่มหมากของตนปลอดภัยแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องวางหมากเพื่อเสริมความแข็งแกร่งอีก แต่หากตนเองตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเสริมหมาก ก็ควรรีบทำโดยด่วน สิ่งที่พึงระวังในการเสริมหมากก็คือ ควรทิ้งระยะห่างระหว่างเม็ดหมากที่นำมาเสริม การพยายามกู้หมากที่กำลังจะตายให้กลายเป็นหมากรอดนั้น มีประสิทธิภาพด้อยกว่าการยอมสละหมากเม็ดนั้นๆ เพื่อประโยชน์ในการได้เป็นฝ่ายบุก หมากที่มีโอกาสรอดน้อย และยากต่อการกู้ย่อมสู้การเสริมหมากที่บริเวณอื่นไม่ได้ ในกรณีที่สถานการณ์ของตนเข้มแข็งกว่าฝ่ายตรงข้าม สิ่งแรกที่ควรทำคือ การเสริมความแข็งแกร่งให้กลุ่มหมากที่มีลมปราณเหลือน้อย ถ้าคู่ต่อสู้อยู่ในสถานการณ์ที่มีหมากอ่อนแอ และแตกกระจาย อย่าเปิดโอกาสให้ฝ่ายตรงข้ามพลิกฟื้นสถานการณ์กลับมาได้เปรียบอีกครั้ง วิธีการที่หลักแหลม น่าเลื่อมใสของการวางหมากคือ การไม่บุกโจมตีฝ่ายตรงข้าม แต่กลับเป็นฝ่ายได้เปรียบ การเปิดเกมที่ดีจะช่วยให้เป็นฝ่ายได้เปรียบ การอ่านหมากอย่างละเอียดถี่ถ้วนจะช่วยให้ไม่เสียเปรียบเท่านั้น แต่ ถ้าหากต้องการชัยชนะ ควรแสวงหาโอกาสที่คู่ต่อสู้คาดไม่ถึง เมื่อผู้เล่นตกอยู่ในภาวะที่ไม่ค่อยดีนัก อย่าลนลาน ควรวางตนให้สงบ กลุ่มหมากที่ตัดสินใจวางเรียบร้อยแล้วควรกลับไปพิจารณาให้ถี่ถ้วนอีกครั้ง โดยเฉพาะพื้นที่ในส่วนที่คิดว่าคู่ต่อสู้ไม่สามารถเข้ามารุกรานได้ ยิ่งจัดเป็นพื้นที่อันตรายซึ่งอาจเกิดความผิดพลาดอย่างไม่คาดคิด และไม่สามารถป้องกันได้ หากฝ่ายตรงข้ามวางหมากเสริมอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย นั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความคิดที่จะเปิดฉากโจมตี ดังนั้น การมองข้ามการเสียหมากเล็กๆ น้อยๆ ไป สามารถหักเหความสนใจของฝ่ายตรงข้ามได้มากกว่า การวางหมากแบบขอไปทีโดยขาดการไตร่ตรองเสียก่อน เป็นสาเหตุนำไปสู่ความพ่ายแพ้เสมอ เพราะฉะนั้น การวางหมากแต่ละหมากจึงต้องระมัดระวังเต็มที่เสมือนหนึ่งกำลังยืนอยู่ริมหน้าผา บทที่ 5 ภาพลวงกับความเป็นจริง เมื่อปะทะกันจนถึงเกมกลางกระดาน ผู้เล่นไม่ควรเลือกจู่โจมคู่ต่อสู้ในทุกตำแหน่ง เพราะจะส่งผลให้ตนเองมีจุดอ่อนหลงเหลืออยู่มากมาย ซึ่งจะทำให้หมากของตนมีความแข็งแกร่งลดน้อยถอยลงไป หลังจากที่หมากขาดความแข็งแกร่ง ก็ง่ายต่อการผิดพลาดและยากที่จะรับมือฝ่ายตรงข้ามได้ ไม่ควรเข้าไปบีบหรือวางหมากใกล้คู่ต่อสู้จนเกินไปนัก ควรทำการขู่บริเวณพื้นที่ว่างของฝ่ายตรงข้ามอยู่ห่างๆ เพราะผลที่ได้จากการวางหมากประชิดกับคู่ต่อสู้คือ จะช่วยเสริมให้เม็ดหมากของฝ่ายตรงข้ามเกิดความแข็งแกร่งมากขึ้น ขณะเดียวกันหมากของตนก็เกิดช่องโหว่ หมากที่ไม่แข็งแกร่งพอจะง่ายต่อการถูกโจมตี แม้ว่าจะกลายเป็นหมากที่แข็งแกร่งในภายหลังก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไรมากนัก จะจู่โจมอย่างสายฟ้าแลบ หรือจะโจมตีอย่างค่อยเป็นค่อยไป ควรปล่อยให้เป็นไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างเล่น ไม่ควรยึดเอากฎเหล่านี้มาใช้อย่างตายตัว พึงยึดหลัก เมื่อสบโอกาสก็ควรลงมือจู่โจม หากโอกาสยังไม่อำนวยก็ควรอดใจรอ บทที่ 6 รู้จักตนเอง ผู้มีปัญญาย่อมสามารถคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นก่อนที่เรื่องราวจะบังเกิด ขณะที่ผู้โง่เขลายังไม่รู้แม้กระทั่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดผลดังกล่าว ดังนั้น การตระหนักถึงจุดด้อยของตน และล่วงรู้ถึงจุดเด่นของคู่ต่อสู้ ยอมปล่อยให้คู่ต่อสู้แสดงศักยภาพในขณะที่อำพรางจุดอ่อนของตนไว้ได้ก็จะสามารถเป็นผู้กำชัยชนะ ผู้ใดรู้ว่า ณ เวลาใด ภายใต้เงื่อนไขใดที่สามารถลงมือโจมตีหรือไม่โจมตีฝ่ายตรงข้ามได้ ผู้นั้นก็จะได้รับชัยชนะ เมื่อตนเองกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่หมากไม่เกาะกลุ่มกัน และรู้ว่าควรทำอย่างไรให้หมากกลับมาเชื่อมโยงกันได้ หรือเมื่อตนเองกำลังอยู่ในสภาวะที่กำลังได้เปรียบ และมีอิทธิพลอย่างสูงแล้วรู้ว่าควรจะวางหมากอย่างไร หากผู้ใดสามารถรับมือกับสถานการณ์ทั้งสองกรณีนี้ได้ ชัยชนะก็จะตกอยู่ในมือขวา หลังจากการวางหมากสัมฤทธิผลจนเป็นเหตุให้ฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถกลับมาท้าทายและเป็นฝ่ายบุกโจมตีได้ เช่นนี้ก็ง่ายต่อการกำชัยชนะ ไม่ต้องผ่านการฟาดฟันกันอย่างดุเดือด แต่ก็สามารถทำให้ฝ่ายตรงข้ามตกอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ได้ บุคคลที่รู้จักตนเองเป็นอย่างดีในทุกๆ ด้าน จึงเป็นผู้ที่มีสติปัญญาเป็นเลิศโดยแท้จริง บทที่ 7 การประเมินสถานการณ์ การวางหมากระหว่างเกมการเล่น ควรให้หมากที่วางมีความเชื่อมโยงกัน นับตั้งแต่ต้นเกมจนถึงท้ายเกม และพยายามช่วงชิงสิทธิ์ในการเป็นฝ่ายบุก หลังโจมตีเข่นฆ่าหมากคู่ต่อสู้เรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่าผลแพ้ชนะยังไม่ถึงที่สุด ก็ไม่ควรละความพยายามในทุกตำแหน่งบนกระดาน ในสถานการณ์ที่เป็นฝ่ายได้เปรียบควรใช้กลยุทธ์ป้องกันการบุกโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามในบริเวณที่เป็นช่องโหว่ ในสถานการณ์ที่ไม่สู้จะดีนัก ผู้เล่นควรกล้าวาง "หมากได้เสีย" ที่ส่งผลต่อการได้เสียของรูปเกม โดยมีปณิธานอันแน่วแน่ต่อการเข้าสู้รบกับฝ่ายตรงข้าม การวางหมากไต่ตามเส้นขอบกระดาน แม้จะไม่เกิดความเสี่ยงอะไร แต่อาจนำความพ่ายแพ้มาสู่ตนได้ ฝ่ายที่มีเม็ดหมากไม่แข็งแกร่ง พอเสริมความแกร่งกลับยิ่งเป็นการฝังตัวเอง ผู้ที่รีบร้อนจะเป็นฝ่ายกำชัย มักไม่สามารถขยายอาณาเขตให้มากดังใจหวัง และต้องพบกับความพ่ายแพ้ในที่สุด กรณีที่หมากของทั้งสองฝ่ายต่างโอบล้อมกันอยู่ ควรปิดลมหายใจจากภายนอกก่อน หากมีกลุ่มหมากอ่อนแอ ไม่มีพลังช่วยเหลือจากหมากกลุ่มอื่นรอบด้าน ก็ไม่ควรละมือไปเดินที่จุดอื่น เมื่อกลุ่มหมากถูกโจมตีจนกระจายออกเป็นเสี่ยงๆ ก็ไม่ควรดันทุรังวางหมากต่อไปจนถึงที่สุด ควรรอจังหวะ และโอกาสที่จะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง นี่คือ "การเดินเกมโดยไม่ขยับหมาก" และเป็น "การวางหมากที่เหมือนไม่ได้วาง" รอโอกาสให้ฝ่ายตรงข้ามวางหมากพลาดเองเพียงแค่ครั้งเดียว โดยหันเปลี่ยนไปเล่นที่กลุ่มหมากบริเวณอื่นก่อนเพื่อรอโอกาส คัมภีร์อี้จิง กล่าวไว้ว่า เมื่อตกอยู่ในภาวะคับขัน ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นโดยธรรมชาติ เมื่อการเปลี่ยนแปลงมาถึง ก็คือโอกาสกำลังจะมาถึง ทำให้สามารถพัฒนาต่อไปได้ โอกาสแห่งชัยชนะย่อมติดตามมา บทที่ 8 การอ่านใจ การอ่านใจคนคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีความสุขุมล้ำลึกนั้น ออกจะเป็นเรื่องที่ยาก แต่หากมองย้อนถึงเหตุการณ์ในอดีตซึ่งส่งอิทธิพลต่อพฤติกรรมเขา จะทำให้ทราบว่า บุคคลผู้นั้นกำลังคิดอะไรอยู่ได้ การเป็นฝ่ายพ่ายแพ้หรือฝ่ายชนะจัดเป็นเหตุการณ์ที่สามารถคาดการณ์ได้ ผู้ที่ไม่วางหมากด้วยความเลินเล่อ ไม่จู่โจมอย่างมุทะลุดุเดือดเกินกำลัง ย่อมเป็นผู้ได้รับประโยชน์อย่างมหาศาลเสมอ แค่วางหมากของตนในตำแหน่งที่มั่นคงและไร้ช่องโหว่ ก็สามารถชนะได้อย่างสบายๆ พึงตระหนักว่า การเข่นฆ่าเม็ดหมากของคู่ต่อสู้อย่างบ้าระห่ำจะมีแต่เสียไม่มีได้ หลังจากพ่ายแพ้ในเกมแล้ว ควรนำหมากเกมนั้นมาพิจารณาดูอีกครั้งเพื่อหาสาเหตุแห่งความปราชัย ควรเสาะหาข้อบกพร่องของตนในจุดต่างๆ หลังจบเกมการแข่งขันทุกครั้ง การไม่สามารถค้นหาจุดบกพร่องของคู่ต่อสู้ถือเป็นผลเสียต่อการเล่นในคราวต่อๆ ไป ระหว่างการเล่นเกมควรตั้งสติและทำจิตใจให้แน่วแน่จนเกมการแข่งขันจบลง การไม่รวบรวมสมาธิปล่อยให้จิตใจวอกแวกไปกับเรื่องต่างๆ จะทำให้ไม่สามารถรวบรวมความคิดให้เป็นหนึ่งเดียวได้ หากขาดการฝึกฝนจะสามารถยกระดับฝีมือการเล่นได้อย่างไรกัน ผู้ที่สามารถค้นพบจุดเด่นของคู่แข่งและให้ความยกย่อง ผู้นั้นต่อไปจะเป็นผู้ที่แข็งแกร่งอย่างแท้จริง การคิดว่าฝ่ายตรงข้ามไร้ฝีมือ และวางหมากด้วยความประมาทจะเป็นฝ่ายชนะได้อย่างไรกัน ระหว่างการเล่นควรควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในความสงบ ทำให้คู่ต่อสู้ไม่สามารถล่วงรู้ถึงจุดอ่อนของตน พึงตระหนักไว้เสมอว่า ไม่ว่าผู้ใดก็ล้วนแต่มีสติปัญญาทั้งสิ้น บทที่ 9 ธรรมะ และอธรรม การบัญชาการกองทัพในยามออกศึก ควรทำอย่างสง่าผ่าเผย แม้หมากล้อมจะเป็นเพียงการละเล่นชนิดหนึ่ง แต่ก็เป็นศิลปะชั้นสูงที่สามารถผสานเอากลยุทธ์ที่ใช้ในการเล่นเกมกับกลยุทธ์ในการศึกเข้าไว้ด้วยกันได้ ขณะเล่นหมากล้อม ทั้งสองฝ่ายเผชิญกันอย่างซึ่งๆ หน้า ผู้เล่นพึงมีจริยธรรมในขณะเล่น ใช้วิธีการที่ใสสะอาด หลีกเลี่ยงแผนการอันสกปรก ที่ใช้เทคนิคลวงโลก หรือการสร้างความรำคาญใจให้แก่คู่ต่อสู้ บทที่ 10 ช่องโหว่เล็กๆ น้อยๆ เมื่อถูกฝ่ายตรงข้ามจับกินเม็ดหมากอย่างต่อเนื่องก็ไม่ควรร้อนใจ การเลือกตัดสินใจที่จะสละหมากหรือไม่นั้น ให้พิจารณาจากรูปเกมที่จะบังเกิดขึ้นในตาเดินต่อๆ ไป สิ่งที่ควรทำเมื่อต้องการจะขยายอิทธิพลออกมานอกเขตพื้นที่ของตน คือการโจมตีหมากที่อยู่โดดๆ ของคู่ต่อสู้ การบุกโจมตีด้านขวา ควรทำหลังการบุกโจมตีด้านซ้ายเป็นผลแล้ว สำหรับหมากที่กำลังย่ำแย่นั้นควรเสริมให้แข็งแกร่งก่อน จากนั้นจึงค่อยเริ่มบุกโจมตีอย่างช้าๆ แต่หมากที่ยากต่อการต่อรองก็ควรจะปล่อยมันทิ้งไป การวางหมากแบบอ่อนข้อให้จะเกิดขึ้นหลังจากที่โจมตีฐานที่มั่นของฝ่ายตรงข้ามแตกกระจายได้เป็นผลสำเร็จ ส่วนหมากที่อีกฝ่ายอ่อนข้อให้ก็ไม่ควรทำการโจมตีในทันที การบุกโจมตีที่มีเป้าหมายที่แน่นอน ควรกระทำเมื่อฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถรับมือได้เท่านั้น บทที่ 11 ชื่อกระบวนท่าต่างๆ ในหมากล้อม การเข้าใจศัพท์ทางเทคนิค หรือชื่อกระบวนท่าหลักๆ ในหมากล้อมจะช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ของเกมได้สะดวกยิ่งขึ้น ศัพท์เทคนิคหลักๆ ที่ใช้ในหมากล้อมนั้น ได้แก่ แทง กระโดดหนึ่งเข้ากลางกระดาน ตาม้า ใช้หัวกระแทก เชื่อม ต่อหมาก ทแยง ยืน โดดหนึ่งด้านข้าง สกัดจุด หนีบ ตัด ดักด้วยตาข่าย ไล่ล่าเป็นขั้นบันได โคะ ฆ่า กรอกยาพิษ เป็นต้น ไม่มีอะไรน่าแคลงใจกับชื่อท่าต่างๆ ในหมากล้อม เพราะสรรพสิ่งต่างๆ ล้วนมีชื่อเรียกของมัน บทที่ 12 ระดับฝีมือในหมากล้อม ระดับฝีมือในหมากล้อมสามารถแบ่งออกได้เป็น 9 ระดับจากต่ำไปสูงดังต่อไปนี้ ระดับที่ 1 "ยังด้อยความคิด" นักหมากล้อมในกลุ่มนี้ยังไม่ค่อยมีฝีมือนัก ยังต้องเลียนแบบกลยุทธ์การวางหมากของผู้อื่นอยู่ ยังไม่มีข้อคิดเป็นของตนเอง ก็ยังจัดว่ามีฝีมือดีกว่าผู้ที่เพิ่งเรียนหมากล้อมเบื้องต้น ระดับที่ 2 "ยังขาดประสิทธิภาพ" นักหมากล้อมในระดับนี้ถือว่ามีความสามารถพอตัว แต่ผู้เล่นในระดับนี้บางครั้งยังปล่อยให้ฝ่ายตรงข้ามจับเม็ดหมากไปถึงห้าเม็ด ถือเป็นการสูญเสียอย่างใหญ่หลวง เพราะทำให้โอกาสที่จะไขว่คว้าชัยชนะค่อนข้างเลือนราง ระดับที่ 3 "ยังใช้กำลังเข้าปะทะ" ผู้ที่มีฝีมือในระดับนี้ มักจะไม่วางแผนลึกซึ้ง เน้นหนักไปที่การบุกโจมตีคู่ต่อสู้เท่านั้น ระดับที่ 4 "มีไหวพริบ" ผู้ที่มีฝีมือในระดับนี้ แม้ยังไม่สามารถอ่านเกมทั้งกระดานได้ แต่ก็รู้วิธีขยายพื้นที่ในหมากกลุ่มต่างๆ แล้ว ระดับที่ 5 "ใช้สติปัญญา" ผู้ที่มีฝีมือในระดับนี้ แม้จะยังไม่เข้าถึงหลักการเล่นหมากล้อมอย่างถ่องแท้ แต่ในขณะแข่งขันก็ยังสามารถคาดการณ์ถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามรูปเกมได้ ระดับที่ 6 "จับแก่นแท้ของหมากล้อมได้แล้ว" ผู้ที่มีฝีมือระดับนี้ เป็นผู้รู้เกี่ยวกับข้อคิดต่างๆ ในการเล่นหมากล้อมอย่างเข้าถึงแก่นแท้ได้แล้ว ระดับที่ 7 "มีฝีมือสูง" ผู้ที่มีฝีมือระดับนี้ถือว่าอ่านเกม และวางแผนถี่ถ้วน รัดกุม ไม่มีข้อบกพร่องได้แล้ว ระดับที่ 8 "เซียนหมากล้อม" เป็นผู้ที่มีฝีมือในระดับเซียน หรือระดับยอดฝีมือที่สามารถมองสถานการณ์ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ระดับที่ 9 "เทพเจ้าหมากล้อม" เป็นผู้ที่มีฝีมือระดับสูงสุด รู้กระจ่างทุกอย่าง ดุจการวางหมากของเทพเจ้าแห่งหมากล้อม (หัตถเทวะ) บทที่ 13 สัพเพเหระ ปัญหาต่างๆ ต้องพลิกแพลงไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงระหว่างเกมแข่งขัน ไม่ควรคิดหักโหมในหมากใดหมากหนึ่งจนเกินไปนัก มิฉะนั้นจะทำให้เหนื่อยล้า เป็นผลเสียต่อสุขภาพ และส่งผลต่อการเล่น ควรหมั่นฝึกฝีมืออย่างสม่ำเสมอ เพราะการห่างหายจากการเล่นไปนานจะทำให้ไม่คุ้นมือ และเป็นเหตุนำไปสู่ความพ่ายแพ้ได้ ฝ่ายชนะไม่ควรคุยโว ฝ่ายพ่ายแพ้ก็ไม่ควรออกอาการและแสดงสีหน้า การยกย่อง และรู้จักแพ้ชนะ เป็นคุณสมบัติของผู้มีการศึกษา ผู้ที่มีความสามารถในระดับสูงไม่ควรจะยกตนข่มท่าน ส่วนผู้ที่ด้อยความสามารถก็ไม่ควรจะดูถูกตัวเองจนเกินไป ควรจะรักษาระดับจิตใจให้สงบและนิ่ง ผู้ที่มีความนิ่งมักจะเป็นฝ่ายกำชัยเสมอ ผู้ที่มีฝีมือสูง วัดกันที่ แม้จะไม่ได้เป็นฝ่ายบุกโจมตี แต่กลับตั้งตนอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบกว่าได้ เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ได้เปรียบก็ไม่ควรลำพองตน มิฉะนั้นสถานการณ์อาจพลิกผันได้ เพราะ ผู้ที่หยิ่งทะนงมักจะพบกับความพ่ายแพ้ ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็มีให้เห็น ผู้ที่มีปัญญานั้น แม้ในยามปลอดภัยก็ไม่ประมาท ในขณะที่ทุกอย่างราบรื่น ก็ยังคงมีความระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา (ยังมีต่อ)

ภูมิปัญญาหมากล้อม กับวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (4)
โดย สุวินัย ภรณวลัย
2 สิงหาคม 2548 19:11 น.
www.suvinai-dragon.com "กลยุทธ์เป็นสิ่งที่ไม่มีวันตาย" ตราบใดที่ลึกๆ ในจิตใจของผู้คน ยังปรารถนาที่จะเป็น "ผู้สั่งการ" ให้ใครต่อใครทำในสิ่งที่ตนปรารถนาอยู่ ความทะเยอทะยานที่ไม่มีที่สิ้นสุดของ ปุถุชน ที่รวยเท่าไหร่ก็ไม่พอ ยังอยากรวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเอาไว้ในมือคนเดียวอยู่อีก ไม่ว่าจะอ้างวาทกรรมอันสวยหรูว่า "เพื่อชาติ เพื่อประชาชน" อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้ว มันก็มาจากตัวกิเลสตัณหาทะยานอยากที่จะเป็น "ผู้สั่งการ" ที่บัญชาให้ใครต่อใครทำตามอัตตาของตนโดยไม่หือนั่นเอง สำหรับ บุคคลเช่นนี้ กลยุทธ์เป็นเรื่องของ "การเอาชนะในระดับชาติ" เป็นเรื่องของอัตตาของรัฐ ที่รวมศูนย์อยู่ที่อัตตาของผู้นำ ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ของรัฐ เนื่องจาก กลยุทธ์เป็นเรื่องของการคิดค้นวิธีการในการบรรลุจุดประสงค์หรือเป้าหมายที่กำหนดไว้แน่นอนหนึ่งๆ ภายใต้เงื่อนไขที่มีความเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น หากปุถุชนผู้มีความทะเยอทะยาน แต่ไม่สามารถมีโอกาสยึดกุมอำนาจรัฐสูงสุดได้ การเป็นเถ้าแก่ เป็นเจ้าของธุรกิจ หรือเป็นผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มธุรกิจที่มีอำนาจการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ หรือเป็นข้าราชการระดับสูงที่มีอำนาจสั่งการผู้คนให้ทำในสิ่งที่ตนปรารถนา ภายในกรอบขององค์การที่ตนสังกัด จึงเป็นสิ่งที่สนองตัณหา สนองความอยากของผู้นั้นได้เหมือนกัน สำหรับบุคคลในระดับนี้ กลยุทธ์เป็นเรื่องของการเอาชนะในระดับกลุ่มธุรกิจ หรือระดับบริษัท ระดับองค์กร เป็นเรื่องของอัตตาของบริษัทที่รวมศูนย์อยู่ที่อัตตาของผู้นำในบริษัทหรือหน่วยงานนั้น ข่าวสารต่างๆ ที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ แทบทุกวัน ล้วนแล้วแต่เป็นการ "โฆษณาชวนเชื่อ" ของ อัตตา ของ "ผู้นำ" ในระดับชาติ ในระดับกลุ่มธุรกิจ ในระดับบริษัท และในระดับองค์กรหน่วยงานต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ทั้งสิ้น ทั้งหมดล้วนเคลื่อนไหวผลักดันภายใต้ วิธีคิดเชิงกลยุทธ์เพื่อเอาชนะ ของผู้คนในระดับต่างๆ บางเรื่องก็เป็นแค่การคุยโม้ เพ้อฝัน ขายฝัน ความคาดหวัง บางเรื่องก็มีหลักเหตุผลพอที่จะเป็นไปได้ แต่ ความเป็นจริงคืออะไรนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หรืออาจกล่าวได้ว่าข่าวสารต่างๆ ที่ออกมาโดย "นักกลยุทธ์จอมปลอม" (pseudo-strategist) เหล่านี้กับความเป็นจริงของกระบวนการที่กำลังเกิดขึ้น มันเป็นคนละเรื่องกัน เพราะ สังคมนี้ใส่ใจกับการเรียนรู้ความจริงน้อยเกินไป สังคมนี้ จึงตกอยู่ในกำมือของ "ผู้นำจอมปลอม" อย่างแทบจะเรียกได้ว่า หลงเชื่ออย่างงมงาย อย่างยอมจำนนโดยว่าง่าย แท้ที่จริงแล้ว กลยุทธ์กับการคิดใหญ่ทำใหญ่เพื่อสนองอัตตา มันไม่เหมือนกัน และไม่ใช่สิ่งเดียวกัน การเชื่อว่า การทำงานใหญ่ ให้ความพึงพอใจมากกว่า การทำงานเล็ก เป็น มายาคติที่ถอนออกได้ยากอย่างหนึ่งในวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ ความเชื่อที่ว่า การมีอำนาจสั่งการผู้คน สิ่งของ เงินทองในปริมาณที่มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งให้ความพึงพอใจแก่คนผู้นั้นมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ก็เป็นมายาคติชนิดหนึ่ง เป็นความเชื่อแบบหลงผิดอย่างงมงายเลยทีเดียวก็ว่าได้ เพราะถ้าคนเราสามารถสั่งการผู้คน สิ่งของ และเงินทองในชีวิตของตน อย่างมีสติ ได้ในระดับหนึ่งอย่างเพียงพอไม่ขัดสนแล้ว ข้อแตกต่างระหว่างการมีอำนาจเบ็ดเสร็จ หรือการมีอำนาจในขอบเขตที่ใหญ่โตระดับชาติกับการมีอำนาจใน "อาณาจักรส่วนตัว" ของตนเอง จะมีความต่างที่บางเบาเท่านั้น เพราะมันเป็นเรื่องของ ความพอใจของคนผู้นั้นล้วนๆ เป็นเรื่องของ ความรู้จักเพียงพอของคนผู้นั้น เท่านั้น ในทางกลับกัน คนที่มีอำนาจล้นฟ้า แต่ไม่รู้จักพออาจจะมีความสุขสงบ มีความมั่นคงในจิตใจในอารมณ์น้อยกว่าคนที่มีอำนาจน้อยนิด แต่รู้จักพอก็เป็นได้ กลยุทธ์ที่บริสุทธิ์ จะต้องเป็นสิ่งที่สร้าง "ความพึงพอใจ" ให้กับความปรารถนาที่จะควบคุมบัญชาการเพื่อการเอาชนะของคนผู้นั้น โดยไม่เกี่ยวข้องกับขนาด ปริมาณ และขอบเขตของการควบคุมบัญชาการ เพื่อการเอาชนะแต่อย่างใด กล่าวในความหมายนี้ หมากล้อมคือ ศิลปะแห่งกลยุทธ์บริสุทธิ์ขั้นสูงที่มาจากภูมิปัญญาของมนุษยชาติในระดับอัจฉริยบุคคล เพราะหมากล้อมสามารถสนองความปรารถนาที่จะควบคุมบัญชาการเพื่อการเอาชนะของคนเราได้ เนื่องจากหมากล้อมแบ่งเป็นสีดำ และสีขาวฝ่ายละ 180 เม็ด เปรียบเสมือนต่างฝ่ายต่างนำขุนศึกที่คอยรับคำบัญชาจากตัวเราผู้เป็นผู้เล่น 180 นายออกศึก เม็ดหมากจำนวน 180 เม็ด เป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นถึงจำนวนขุนศึกที่มีอยู่มากมายมหาศาลในมือของเรา เม็ดหมากจำนวน 180 เม็ดนี้ จึงก่อตัวเป็นกองทัพของเราขบวนหนึ่ง และสามารถเติมเต็มแรงปรารถนาในการออกบัญชาการรบ และการเป็นผู้นำทัพของตัวเราที่เป็นผู้เล่นได้ เนื่องจากหมากทุกหมากมีหน้าตาเหมือนกัน และมีสถานะที่ทัดเทียมกัน (ซึ่งต่างจาก หมากรุก ที่มีหมากรูปร่างต่างๆ และสถานะต่างๆ ร่วมกันสู้รบ) โดยผู้เล่นเป็นขุนพลแม่ทัพใหญ่คอยบัญชาการในการทำศึกสงคราม เพราะฉะนั้น สภาพจิตใจของผู้เล่นในฐานะจอมทัพ จึงอยู่ในสภาวะที่ดีที่สามารถเติมเต็มความรู้สึก อยากเป็นผู้นำสูงสุดของคนเราได้ และช่วยขจัดความรู้สึกขมขื่นจากชีวิตจริงที่ต้องดำรงชีวิตอยู่อย่างคอยให้ "ผู้อื่น" จูงจมูกอยู่ร่ำไปได้ แต่การเล่นหมากล้อมเพื่อแค่ชดเชยปมด้อยในความรู้สึกเก็บกดจากชีวิตจริง จะเป็นแค่ การหนีโลกชั่วคราว อย่างหนึ่งเท่านั้น ตราบใดที่คนผู้นั้นยังเห็นหมากล้อมเป็นแค่เกมการละเล่น กีฬาการแข่งขันสิ่งหย่อนใจคลายเครียดเท่านั้น โดยไม่ได้ตระหนักว่า หมากล้อมเป็นศิลปะแห่งกลยุทธ์บริสุทธิ์ชั้นสูงของเหล่าอัจฉริยะแห่งเต๋าที่ใช้หมากล้อมเป็นส่วนหนึ่งแห่ง "วิถี" หรือ "อภิมรรค" เพื่อบรรลุถึงสภาวะแห่งจิตที่แน่วแน่ สงบนิ่ง โดยไม่รู้สึกยินดียินร้ายกับลาภยศสรรเสริญใดๆ ในโลก จงเล่น จงฝึกฝนหมากล้อมเพื่อขจัดมายาคติเกี่ยวกับกลยุทธ์ และความอยากคิดใหญ่ ทำใหญ่ ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น และเข้าสู่ มรรคาแห่งกลยุทธ์บริสุทธิ์ เพื่อบรรลุถึง สภาวะจิตแห่ง "จิตปกติ" ที่อยู่เหนือโลกธรรมทั้งหลายๆ อันได้แก่ อำนาจ ลาภ ยศ สรรเสริญกันเถิด หวางจีซิง ซึ่งเป็นปรมาจารย์หมากล้อม และยอดคนในยุคถังคนหนึ่งได้ถ่ายทอด "หลัก 10 ประการของหมากล้อม" ที่มี ความลึกล้ำในหลักกลยุทธ์ เป็นอย่างมาก ดังต่อไปนี้ (ขยายความโดย ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์) (1) อย่าโลภต่อชัยชนะ ผู้เล่นขณะวางหมาก ควรหลีกเลี่ยงตำแหน่งที่ไม่สมเหตุสมผล ไม่ควรโหมบุกฝ่ายตรงข้ามอย่างบ้าระห่ำ เพราะการเดินเพื่อหวังไล่จับกินคู่ต่อสู้จนเกินพอดีนั้น นอกจากจะส่งผลให้ไม่สามารถกำชัยชนะได้แล้ว ยังเป็นบ่อเกิดแห่งความพ่ายแพ้ ซึ่งจะค่อยๆ คืบคลานเข้ามาหาอีกด้วย (2) ต้องระมัดระวังเมื่อบุกลิดรอนพื้นที่ฝ่ายตรงข้าม หมากลิดรอนต้องสุขุม ไม่รีบร้อนล่วงเข้าลึกจนเกินไป การทะลวงฝ่าเข้าไปอย่างหักโหม จะทำให้เสียทีได้โดยง่าย (3) โจมตีพร้อมป้องกันในคราวเดียว หมากเม็ดหนึ่ง ควรสร้างประโยชน์หลายทาง ยามโจมตีก็ต้องพร้อมป้องกันกลุ่มของตนเองไปพร้อมๆ กันด้วย อย่างนี้จึงจะเป็นหมากชั้นเลิศ (4) สละหมากเพื่อให้ได้มือนำ "มือนำ" นั้นสำคัญมาก กระทบถึงผลแพ้ชนะโดยรวมเลยทีเดียว หมากเพียงไม่กี่เม็ดเราต้องกล้าสละทิ้ง เพื่อให้ได้มือนำ เราไม่ควรวนเวียนอยู่กับกลุ่มหมากตามจุดย่อยๆ จนเป็นผลให้เสียสิทธิ์ในการเป็น "มือนำ" (5) ปล่อยเล็กเลือกใหญ่ ในหมากแต่ละตาเดินนั้น ต่างต้องเผชิญการตัดสินใจเลือกตำแหน่งที่วางหมาก ซึ่งต่างก็มีทั้งประโยชน์มากน้อยลดหลั่นไปตามลำดับ ผู้เล่นหมากล้อมชั้นยอด จะเลือกวางหมากแต่หมากสำคัญพื้นที่ใหญ่ ไม่มีใครเลือกสร้างพื้นที่เล็กเลย คำพูดนี้ฟังดูง่าย ทุกคนก็อยากเลือกหมากใหญ่ แต่ในทางปฏิบัติจริง ไม่ง่ายดังคำพูด เมื่อเผชิญหน้าสถานการณ์จริง ทุกสิ่งล้วนล่อตา มุมมองที่จำกัดเพียงจุดใดจุดหนึ่งล้วนลวงหลอกให้เราหลงผิดเห็นหมากเล็กเป็นหมากใหญ่ไปได้ทั้งสิ้น เราต้องเลือกเดินหมากที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกๆ ตาเดินเสมอ จึงจะเป็นหนทางนำไปสู่ชัยชนะได้ (6) ต้องรู้จักตัดใจ เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์อับจน การตัดใจสละหมากถือเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะถ้าสละหมากได้เร็วเท่าไร ความเสียหายก็จะลดน้อยลงมากเท่านั้น ใครไม่รู้จักตัดใจ หวงหมาก ไม่ยอมทิ้ง พยายามดิ้นหนีแต่ยิ่งดิ้นก็ยิ่งแย่ ความตายขยายวงกว้างขึ้นตามแรงดิ้น สุดท้ายก็ต้องทิ้งทั้งกระดาน การหวงแหนโดยไม่คำนึงเหตุผล จุดจบคือความล้มเหลว (7) จงคิดก่อนวางหมาก ไม่ควรวางหมากด้วยความบุ่มบ่าม ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจวางหมาก โดยเฉพาะในช่วงโรมรัน แม้ได้โจมตีคู่ต่อสู้จนกองทัพหมากแตกเป็นเสี่ยงๆ แล้ว ยิ่งต้องทวีความระมัดระวังให้มากขึ้น ต้องใคร่ครวญเป็นอย่างดีแล้วจึงดำเนินการขั้นต่อไป อย่าหลงระเริง อย่ารีบร้อนจนเกินควร (8) จงวางหมากให้สอดรับกัน ขณะที่วางหมากนั้น ต้องมองให้กว้างออกไปถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นตลอดเกมการแข่งขัน ในหมากล้อมนั้นมีกลยุทธ์ กลยุทธ์ร้อยเรียงตามนโยบาย การวางเค้าโครงของรูปเกมบังเกิดขึ้นภายในใจ จงเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างหมากในแต่ละส่วนกับสถานการณ์ทั้งกระดาน หมากทุกเม็ดที่วางลงไปจะต้องมีความสอดคล้อง สอดรับกันเป็นอย่างดี (9) ยามคู่ต่อสู้แข็งแกร่งให้ป้องกันตนเอง ข้อนี้จะใช้หลังจากดำเนินมาถึงการขับเคี่ยวตรงกลางกระดาน หรือไม่ก็ในกรณีที่มีการช่วงชิงพื้นที่ว่างของทั้งสองฝ่าย ขณะที่จะบุกเข้าไปในพื้นที่ฝ่ายตรงข้ามที่มีอิทธิพลแข็งแกร่งนั้น ส่วนตนต้องรีบพยายามกู้หมากที่กำลังอยู่ในสภาพที่อ่อนแอให้ได้เสียก่อน ทำให้หมากที่อยู่โดดเดี่ยวมีหนทางเป็นหมากรอด ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงแลก ทั้งๆ ที่ยังไม่พร้อม (10) เมื่อเป็นรองต้องอดทน ในสภาวะที่หมากตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นรอง ไม่ควรจะหวังลมๆ แล้ง คิดรอให้ฝ่ายตรงข้ามวางหมากพลาด แต่ควรพยายามหาทางรักษาตัวเอง หาวิธีที่ทำให้ฝ่ายตนเพลี่ยงพล้ำน้อยที่สุด เพราะสถานการณ์เช่นนี้ การไม่ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบก็เท่ากับชนะแล้วนั่นเอง แต่ในยามเสียเปรียบ น้อยคนจะใจเย็นได้ ต่างถูกความกดดันบีบคั้นให้เดินหมากอย่างมุทะลุหุนหันพลันแล่น การทำเช่นนั้นไยไม่ต่างจากการพาตนเข้าสู่หายนะ ดังนั้น ผู้เป็นรองจึงต้องอดทน ตั้งรับให้มั่นคง รอเวลาจังหวะ เพื่อหวนกลับมาด้วยจิตสงบ "หลัก 10 ประการของหมากล้อม" ของหวางจีซิงข้างต้นนี้ แม้เป็นของโบราณแต่ก็เป็นหลักกลยุทธ์ที่ทรงคุณค่า ล้ำสมัยอยู่เสมอ สะท้อนให้เห็นถึง ความลึกล้ำของวิถีหมากล้อม อันเป็นศิลปะแห่งกลยุทธ์บริสุทธิ์ชั้นสูงของเหล่าอัจฉริยะเต๋า ที่ไม่ควรมองข้าม ตราบใดที่ "กลยุทธ์เป็นสิ่งที่ไม่มีวันตาย" สำหรับสังคมมนุษย์ (ยังมีต่อ)

ภูมิปัญญาหมากล้อม กับวิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (5)
โดย สุวินัย ภรณวลัย
9 สิงหาคม 2548 20:06 น.
www.suvinai-dragon.com "ท้องนภาเปรียบเสมือนกระดานหมากล้อม ดวงดาวคือเม็ดหมากล้อม การเดินหมากล้อมแฝงข้อพลิกแพลงเปลี่ยนแปลง แต่ต้องเดินตามหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ขอเพียงพวกเราสามารถเกาะกุม แนวทางในความเปลี่ยนแปลง ยึดมั่นใน หลักการของหมากล้อม ในที่สุด ก็จะสยบศัตรูเอเชียได้ เฉกเช่นเวลาเดินหมาก หากทุกตาสามารถบีบบังคับให้อีกฝ่ายมิอาจไม่มีปฏิกิริยาตอบสนอง ก็จะควบคุมทั้งกระดานได้" จาก "มังกรคู่สู้สิบทิศ" ของหวงอี้ แก่นแท้ของภูมิปัญญาหมากล้อมนั้น อยู่ที่ ปรัชญาจักรวาฬ (Kosmos) ในหมากล้อม ปรัชญาจักรวาฬในสายตาของเต๋านั้น มุ่งที่จะค้นหา "แนวทาง" ในความเปลี่ยนแปลง หรือศึกษาความเปลี่ยนแปลงในจักรวาฬเพื่อค้นหาหลักเกณฑ์ที่แน่นอนของความเปลี่ยนแปลง เพื่อที่จะได้ดำเนินชีวิตอย่างสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของจักรวาฬ (เต๋า) ในฐานะที่ชาวเต๋ามองว่า ร่างกายของคนเราก็เป็น "โลก" อันน้อยนิด โดยที่รอบกายของคนเราก็เป็นอีกโลกหนึ่ง การศึกษาเต๋าจึงเป็นการศึกษาหลักแห่งธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งสอง คือโลกภายในตัวเรากับโลกภายนอกตัวเรา เพื่อบูรณาการหรือหลอมรวมโลกทั้งสองนี้ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน หรือเป็นหนึ่งเดียวกับเต๋า หรือจักรวาฬนั่นเอง คัมภีร์อี้จิงของเต๋าถูกรังสรรค์ขึ้นมาเพื่อการศึกษาธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงอันนี้ โดยที่ หมากล้อมเป็นศิลปะแห่งการศึกษา หลักการของการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาโดยเหล่าอัจฉริยะแห่งเต๋าในยุคโบราณ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่เดินอยู่บนวิถีเต๋าหรือผู้ที่กำลังฝึกฝนตนเองตามแนวทางเต๋า สามารถหลอมรวม ปรองดองเป็นหนึ่งเดียวกับเต๋า หรือจักรวาฬได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยผ่านศาสตร์และศิลปะชั้นสูงแห่งเต๋าอย่างหมากล้อม เช่นเดียวกับมวยไท้เก๊ก และสมาธิเต๋าหรือเซน หมากล้อม ส่งเสริม สมอง และสติปัญญาของผู้นั้นให้ปรองดอง เป็นหนึ่งเดียวกับเต๋าในระดับใจ และความคิด มวยไท้เก๊ก ส่งเสริม กาย และลมปราณของผู้นั้นให้เคลื่อนไหว เป็นหนึ่งเดียวกับเต๋าในระดับกาย และพลังชีวิต สมาธิเต๋า หรือเซน ส่งเสริม กาย-ใจ-ปราณของผู้นั้นให้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับวิญญาณของผู้นั้น เพื่อ เป็นหนึ่งเดียวกับเต๋าในระดับจิตวิญญาณ อู๋ชิงหยวน ปรมาจารย์หมากล้อมแห่งศตวรรษที่ 20 เป็นผู้ที่น่าจะถือได้ว่าเข้าถึง ปรัชญาจักรวาฬในหมากล้อมนี้มากที่สุดคนหนึ่ง กิมย้งนักเขียนนิยายกำลังภายในชื่อดัง ก็เป็นผู้หนึ่งที่เลื่อมใสในอาจารย์อู๋ชิงหยวน เพราะกิมย้งเองโดยส่วนตัวก็ชอบเล่นหมากล้อมอยู่แล้ว แต่ที่ตัวเขาเลื่อมใสอาจารย์อู๋ชิงหยวนนั้น ไม่ใช่แค่เพราะพรสวรรค์อันเปี่ยมล้นของตัวอาจารย์อู๋ชิงหยวนเท่านั้น แต่เพราะ อาจารย์อู๋ชิงหยวนเป็นยอดนักหมากล้อมแห่งศตวรรษที่ 20 คนแรกที่สามารถนำเอาศิลปะแห่งเกมกีฬาอย่างหมากล้อม ที่มุ่งเน้นในการแพ้ชนะอย่างเดียวนี้ มายกระดับให้สูงส่งขึ้นถึงขั้นสุดยอดแห่งภาวะความเป็นมนุษย์แบบเต๋าได้ อาจารย์อู๋ชิงหยวน ต่างจากนักหมากล้อมฝีมือเลอเลิศทั่วไป ตรงที่นักหมากล้อมฝีมือเลอเลิศนั้น เกิดขึ้นบ่อยในทุกยุค แต่ยอดปรมาจารย์แห่งวงการหมากล้อมนานที นับเป็นหลายร้อยปีถึงจะปรากฏขึ้นสักครั้ง ความยิ่งใหญ่ของอาจารย์อู๋ชิงหยวนนั้นอยู่ที่ท่านได้นำหลักธรรมของเซนเรื่อง การประคองสภาวะของจิตอันเป็นปกติในทุกสถานการณ์ มาใช้ในเกมการแข่งขันที่ดุเดือดอย่างหมากล้อมอย่่างประสบความสำเร็จ ท่านใช้หมากล้อมเป็นศิลปะในการบ่มเพาะสภาวะจิตแบบเซน หรือสภาวะแห่ง "จิตอันเป็นปกติ" นี้ ซึ่งทำให้สำหรับตัวท่านแล้ว การเล่นหมากล้อม มิใช่เกมที่ไร้สาระ ผลาญพลังงานและผลาญเวลาไปเปล่าๆ มิหนำซ้ำยังทำให้เกิดอัตตายึดติดในผลแพ้ชนะอันเป็นโทษที่แลเห็นได้ชัดของการหมกมุ่นในหมากล้อมที่ต้องระวังให้มาก กล่าวโดยนัยนี้เราต้องถือว่า อาจารย์อู๋ชิงหยวนประสบความสำเร็จในการยกระดับการเล่นหมากล้อม การฝึกฝนหมากล้อมของท่านให้กลายเป็นวิถีธรรมที่ยิ่งใหญ่แห่งเซนและเต๋า เพื่อการชำระจิตใจของตนเอง ด้วยเหตุนี้ อาจารย์อู๋ชิงหยวนถึงกล้านำเสนอแนวคิดแบบเต๋าที่ว่าด้วย "ความปรองดองกับจักรวาฬ" ในหมากล้อม โดยหลักการนี้มุ่งที่จะสร้างดุลยภาพให้เกิดขึ้นในเกมการแข่งขัน เน้นการสร้างสรรค์แปลกใหม่ในแต่ละเกม เพิ่มมิติมุมมองใหม่เชิงศิลปะในเกมหมากล้อม มากกว่าการให้ความสำคัญในเรื่องผลแพ้ชนะ อาจารย์อู๋ชิงหยวนเคยกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า "พวกท่านรู้จักความหมายของอักษรจีน ที่แปลว่า ตรงกลาง หรือไม่ อักษรที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแล้วมีเส้นขีดแบ่งผ่ากลาง สิ่งที่ถูกแบ่งแยกออกเป็นซ้าย-ขวานั้นคือ หยินกับหยาง ส่วนเส้นตรงที่ผ่ากลางนั้น บ่งชี้ว่า จักรวาฬ หรือ เต๋า นั้นไร้รูป ไร้ขอบเขต จนต้องขีดเส้นผ่าออกมาจึงปรากฏเป็นรูป... "ในหมากล้อมนั้น การบรรลุถึงสภาวะแห่ง "ตรงกลาง" นี้ เป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะผู้ใดก็ตามที่ค้นพบ "ตรงกลาง" นี้ได้ในกระดานหมากล้อมขณะนั้น เขาก็จะค้นพบตำแหน่งการวางที่ถูกต้องในขณะนั้น ซึ่งทำให้หมากทั้งหมดบนกระดานเกิดความปรองดองได้..." "ลำพังแค่การค้นคว้าทางเทคนิคอย่างเดียว เราไม่สามารถที่จะเข้าถึงหรือบรรลุถึงสภาวะแห่ง "ตรงกลาง" นี้ได้ เพราะ "ตรงกลาง" นี้มันจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา พร้อมๆ กับหมากแต่ละหมากที่ได้วางลงไป ผู้ที่จะเข้าถึงสภาวะนี้ได้ จะต้องเป็นผู้ที่สามารถทำจิตของตนให้ใสกระจ่างดุจกระจกที่สามารถสะท้อนภูมิปัญญาอันล้ำเลิศของจักรวาฬออกมาในการเดินหมากแต่ละหมากที่มีประสิทธิภาพสูงสุดได้" เพราะหมากล้อมเป็นโลกที่ไร้รูปไร้ขอบเขตที่ไม่อาจควบคุมหรือจัดการได้ด้วยเทคนิคล้วนๆ หรือด้วยเทคนิคแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น วิถีของปรมาจารย์หมากล้อมอย่างอู๋ชิงหยวน จึงอยู่ที่แค่มุ่งค้นหา "ตรงกลาง" ในท่ามกลางความไร้รูปไร้ขอบเขตของหมากล้อมเท่านั้น ไม่มีอย่างใดอื่นอีก และผลพวงของการแสวงหาการค้นหานี้คือ การค้นพบหลักการหรือ หลักความจริงของหมากล้อม หรือ ประกาศิตของหมากล้อม ที่ใครก็ไม่อาจละเมิดได้ หาไม่แล้วเมื่อคนผู้นั้นได้พบกับคู่ต่อสู้ที่เข้าใจหลักความจริงของหมากล้อมนี้ได้ลึกซึ้งกว่า เขาก็จะได้รับความเจ็บปวดจากบทเรียนราคาแพงเสมอ แก่นแท้ของหลักกลยุทธ์ก็ล้วนแฝงอยู่ในหลักความจริงของหมากล้อม หรือประกาศิตของหมากล้อมนี้ทั้งสิ้น คุณูปการที่ยิ่งใหญ่อีกประการหนึ่งของอาจารย์อู๋ชิงหยวน ที่มีต่อวงการหมากล้อมสมัยใหม่ก็คือ ท่านกล้าสลัดทิ้ง "หลักความจริงแบบเก่า" ของหมากล้อมที่เชื่อกันมานับร้อยๆ ปีว่า หมากล้อมจะต้องเดินจากมุมสู่ด้านข้างสู่ตรงกลางกระดานตามลำดับนี้เสมออย่างไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ อาจารย์อู๋ชิงหยวนในวัยหนุ่มน้อยเพียงแค่ 19 ปี ก็กล้าคิดนอกกรอบ ด้วยการนำเสนอแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการเปิดเกมที่ไม่ยึดติดกับหลักการเดิมในอดีต แต่เริ่มจากมุมมองใหม่ที่มองว่า "หลักความจริงแบบใหม่" ของหมากล้อมก็คือ เสรีภาพที่จะเลือกวางหมากได้อย่างอิสรเสรีตรงไหนก็ได้ โดยคำนึงถึงดุลยภาพและความปรองดองของหมากทั้งกระดานเป็นสำคัญ นี่คือการปฏิวัติทางความคิดเกี่ยวกับหมากล้อมในวงการหมากล้อมของอู๋ชิงหยวนโดยแท้ เพราะเป็นการนำเสนอว่า โลกของหมากล้อม คือจักรวาฬอันไร้ขอบเขต ซึ่งเป็นมุมมองที่ไม่มีนักหมากล้อมคนไหนในญี่ปุ่นก่อนหน้านั้น กล้านำเสนอมาก่อนนับร้อยๆ ปีมาแล้ว จากความเข้าใจใหม่อันนี้ เมื่อเรามาศึกษาถึงประกาศิตต่างๆ ของหมากล้อม เพื่อประโยชน์ในการศึกษาเรื่องหลักกลยุทธ์ เราจะได้ บทเรียนเชิงกลยุทธ์จากหลักความจริงของหมากล้อม ต่างๆ ดังต่อไปนี้ (1) อย่าเดินหมากครึ่งๆ กลางๆ (2) อย่าทำร้ายหมากของตนเอง หากจำต้องสละหมากบางส่วน ก็เพื่อที่จะได้ผลประโยชน์ในทางอื่นตอบแทนกลับคืนมาเสนอ (3) อย่าหมกมุ่นอยู่กับการสู้รบ จนกลายเป็นสู้เพื่อที่จะสู้เท่านั้น โดยไม่ได้คำนึงถึงผลได้ผลเสียในแต่ละสนามรบเลย การสู้อย่่างหัวชนฝา อย่างตาบอดเช่นนี้ จะนำมาซึ่งความพ่ายแพ้ในสงครามเท่านั้น (4) จงหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับเกมที่ตัวเองเล่น จนกระทั่ง ความหมายของเกมนั้นในขณะนั้นคือ โลกทั้งหมดของผู้เล่นคนนั้นในขณะนั้น (5) ผู้ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้่าย สลับปรับเปลี่ยนมุมมองในระดับภาพรวมกับในระดับเฉพาะส่วน ได้อย่างดังใจ ย่อมพ่ายแพ้ต่อผู้ที่สามารถทำเช่นนั้นได้ ในขณะดำเนินกลยุทธ์เสมอ (6) หนึ่งหมากคือหนึ่งโอกาสเสมอ ในกระดานที่หมากเริ่มถูกถมเต็มยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โอกาสที่หมากๆ หนึ่งจะส่งผลสะเทือนต่อสถานการณ์โดยรวมก็จะยิ่งลดน้อยลงตามลำดับ (7) ทั้งในหมากล้อมและในชีวิตจริง ความได้เปรียบจากการเป็น "มือนำ" จะดำรงอยู่เสมอ (8) อย่าเดินหมากที่ช่วยให้ฝ่ายตรงข้ามสามารถเล่นได้อย่างสมบูรณ์แบบ (9) อย่าเล่นหมากช่วงปิดเกมก่อนช่วงกลางเกม และอย่าเล่นหมากช่วงกลางเกมก่อนช่วงเปิดเกม เราต้องเล่นหมากที่เหมาะสมกับขั้นตอนที่เรากำลังอยู่ในเกม (10) ชัยชนะในหมากล้อมจะมีกับผู้ที่เคารพความจริงที่ว่า เราไม่สามารถรู้ความเป็นไปได้ทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในเกม เราจึงต้องยอมรับความไม่แน่นอนนี้ และปรับตัวให้เข้ากับความไม่แน่นอนหรือความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ดีที่สุด โดยที่ชัยชนะเป็นเพียงผลพลอยได้ของการปรับตัวนี้เท่านั้น (11) อย่ายึดติดกับแผนการที่วางไว้ก่อนหน้านั้น แผนการมีไว้ยกเลิก (12) ต้องคิดใหม่ และคิดใหม่อยู่เรื่อยๆ เพราะทุกเกมในหมากล้อมเป็นเกมใหม่สดที่ไม่เคยซ้ำรอยเลย และชีวิตก็เช่นกัน (13) หมากที่วางลงไปแล้วขยับไม่ได้ ต่อให้เดินพลาด เดินไม่ดีไปแล้ว ก็ต้องยอมรับหมากที่ตัวเราได้เล่นไปแล้ว (14) จงเดินหมากที่ให้ประโยชน์ได้หลายทาง (15) เราไม่มีทางรู้จิตใจของคู่ต่อสู้ โดยดูแค่หมากของเขาเท่านั้น (16) รูรั่วเล็กๆ อาจกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่ได้ ต้องเอาใจใส่ แม้แต่จุดอ่อนเล็กๆ น้อยๆ ในกลุ่มหมากของตน เกมทั้งเองอาจพลิกคว่ำพ่ายแพ้ได้ ถ้าผู้เล่นสนใจแต่ภาพใหญ่เท่านั้น โดยขาดความละเอียดรอบคอบในเรื่องเล็กๆ งานด่วนจึงต้องมาก่อนงานใหญ่เสมอ (17) จงเดินหมากอย่างลื่นไหล ไม่หนักไป ไม่อ่อนไป ไม่แน่นไป ไม่หลวมไป (18) โจมตีไม่ใช่เพื่อฆ่า แต่โจมตีเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ (19) วิถีของหมากล้อมคือ การแสวงหาหมากที่ดีที่สุดอย่างไม่มีวันจบสิ้น และพยายาม "ก้าวข้าม" หลักความจริงแบบเก่าเสมอ ภูมิปัญญาหมากล้อมเพื่อการเข้าถึงแก่นแท้ของกลยุทธ์นั้น มีอย่างอุดมสมบูรณ์ยิ่งเท่าที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น เป็นแค่บางส่วนเท่านั้น สุดท้ายแล้วผู้นั้นก็ต้องกระโดดเข้ามาศึกษาด้วยตนเอง เพื่อเข้าถึงด้วยตนเอง ภูมิปัญญาแห่งกลยุทธ์จากหมากล้อม จึงจะกลายเป็นของคนผู้นั้นได้ แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็สามารถเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องกลยุทธ์โดยทั่วไปแล้ว แม้ผู้นั้นจะยังเล่นหมากล้อมไม่เป็น หรือยังไม่ค่อยเข้าใจเกมหมากล้อมดีพอก็ตาม

Comments

Popular posts from this blog

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับธุรกิจ

การเดินทางของวิชาเศรษฐศาสตร์

ความสำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์ม�